18 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีการตั้งคำถามความแม่นยำในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของทองคำด้วยเครื่อง X-ray Fluorescence (XRF) โดยอ้างว่าเครื่อง XRF ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของทองคำแค่เพียงพื้นผิวเท่านั้น ไม่สามารถยืนยันผลได้จริง

บทสรุป :
1.เครื่อง X-ray Fluorescence สามารถยิงรังสีเอ็กซ์ทะลุทองคำ 24K ได้ประมาณ 10-15 ไมโครเมตร
2.การใช้เครื่อง XRF ตรวจสอบทองคำอาจไม่แม่นยำ หากวัสดุแปลกปลอมอยู่ลึกกว่าระยะที่เครื่อง XRF ตรวจสอบได้
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
เครื่อง X-ray Fluorescence (XRF) สามารถตรวจสอบได้ทั้งชนิดและปริมาณของธาตุที่อยู่ในทองคำ ทำงานด้วยการวัดปริมาณฟลูออเรสเซนต์ที่ปลดปล่อยมาจากธาตุองค์ประกอบที่อยู่ในทองคำ
โดยที่เครื่องจะปล่อยรังสีเอ็กซ์จากหลอดรังสีไปที่ทองคำ ส่งผลให้ทองคำคายพลังงานออกมาในรูปฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งพลังงานที่คายออกมาจะมีความแตกต่างกันตามเอกลักษณ์เฉพาะของธาตุแต่ละชนิดที่อยู่ในทองคำ
ระยะในการแทรกซึมของรังสีเอ็กซ์ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของทองคำ โดยทองคำ 24K จะมีระยะในการแทรกซึมของรังสีเอ็กซ์ประมาณ 10-15 ไมโครเมตร
ทองปลอมที่เกิดจากการชุบทองด้านนอก หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า ทองไมครอน จะมีความหนาของเนื้อทองเพียง 1, 3 และ 5 ไมโครเมตรเท่านั้น ซึ่งอยู่ในระยะที่สามารถตรวจสอบด้วยเครื่อง XRF ได้
แต่กระนั้น ในกรณีที่ผิวทองคำชั้นนอกมีความหนามาก ๆ เช่น ทองแท่งสอดไส้โลหะชนิดอื่น ๆ การตรวจสอบด้วยเครื่อง XRF อาจไม่สามารถแสดงผลได้อย่างชัดเจนเพียงพอ
ดังนั้น การใช้เครื่อง XRF มีความแม่นยำเพียงพอสำหรับใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของทองคำแท่งและทองรูปพรรณที่ซื้อขายทั่วไปในท้องตลาด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความหนาของทองคำที่ใช้ตรวจสอบด้วย และจำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อความแม่นยำ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://git.or.th/th/service/263
https://goldtraders.or.th/uploads/BOX/Gold-Update-Part3.1.pdf
https://maxsell.co/penetration-depth-of-xrf-gold-testing-machine/
https://www.thesafehouse.sg/articles/gold-testing-with-x-ray-fluorescence-xrf