27 ก.พ. – หนุ่มเจ้าของธุรกิจวัย 40 ปี ร้องตำรวจ สอท. หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในให้ติดตั้งแอปฯ ก่อนถูกดูดเงินจากบัญชี 16 ล้านบาท
ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายวัชระ อายุ 40 ปี ชาว จ.ชลบุรี นักธุรกิจหนุ่มผู้เสียหาย หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอก ถูกดูดเงินออกจากบัญชี 16 ล้านบาท นำเอกสารหลักฐานเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.2 เพื่อสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานในการติดตามกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนกระทำความผิดมาดำเนินคดี
ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 ดำเนินการในเรื่องนี้แล้วพร้อมให้กำชับทางพนักงานสอบสวน สอบปากคำผู้เสียหายอย่างละเอียด เบื้องต้นผู้เสียหายได้ถูกคนร้ายโทรศัพท์มาหา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พูดชักชวนให้ผู้เสียหายอัพเดทข้อมูลของตัวเอง จากนั้นได้ส่งลิงก์ปลอมของกรมธุรกิจพาณิชย์ (DBD) ให้ทางผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัว หลังจากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลเสร็จสิ้นกดยืนยันภายในช่วงเวลา 10 นาที เงินของผู้เสียหายมีการทำรายการถอนออกจากบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ รวม 9 ครั้ง รวมเป็นเงิน 15.8 ล้านบาท ออกไปยังบัญชีม้าของกลุ่มคนร้าย จากนั้นเคลื่อนไหวกระจายไปยังบัญชีแถว 1 ถึงแถวที่ 5 รวมกว่า 20 บัญชี ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริษัทแห่งหนึ่งที่เปิดบังหน้า แล้วโอนเปลี่ยนสภาพเป็นสกุลเงินคลิปโต อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องที่พบความเชื่อมโยงในเรื่องนี้มาสอบปากคำเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวในโพสต์เตือนภัยในเรื่องนี้ว่าปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ออกอุบายให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงาน เพื่อเป็นการอัพเดทข้อมูลนิติบุคคล และงบการเงินของบริษัทผู้เสียหาย จากนั้นมิจฉาชีพได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทางไลน์แล้วส่งลิงก์ให้ติดตั้ง ผู้เสียหายหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมดังกล่าว ตั้งคำโทรศัพท์ตามที่มิจฉาชีพแจ้ง กระทั่งทำให้เงินถูกโอนออกจากบัญชีหลายครั้ง สูญเสียเงินหลายล้านบาท
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพดังต่อไปนี้
1.ไม่กดลิงก์ใด ๆ ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์ .apk เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ (Malware) ของมิจฉาชีพ
2.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชั่นที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะป็นโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชั่นปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งจากแหล่งที่เชื่อถือ และเป็นทางการเท่านั้น ได้แก่ App Store และ Play Store
3.โดยปกติหน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือ ทางการส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนอง และตรวจสอบนโยบายของหน่วยงาน. -สำนักข่าวไทย