กรุงเทพฯ 13 ก.ย. – ศาลอาญาธนบุรีเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีการเสียชีวิตของ “ลัลลาเบล” พริตตี้สาว เป็น 17 ม.ค.66 เหตุยังพิจารณาไม่เสร็จ
วันนี้ศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์คดีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว “ลัลลาเบล” ที่กลายเป็นศพอยู่ภายในคอนโดย่านบุคคโล เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 โดยมี “น้ำอุ่น รัชเดช” อาชีพพริตตี้บอย และกลุ่มเจ้าของบ้านจัดงานปาร์ตี้ย่านบางบัวทอง ตกเป็นจำเลยที่ 1-6 โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 ศาลอาญาธนบุรีอ่านคำพิพากษาจำคุก “น้ำอุ่น รัชเดช” จำเลยที่ 1 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน และให้จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมแก่โจทก์จำนวน 748,660 บาท
จากกรณีระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2562 จำเลยทั้ง 6 มีงานเลี้ยงมีการดื่มสุราที่บ้านแห่งหนึ่งในหมู่บ้านย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จ้างนาวสาวธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือลัลลาเบล อายุ 26 ปี มาเป็นพริตตี้ชงเหล้าร่วมเต้นรำและร่วมดื่มสุรา จำเลยทั้ง 6 มีวัตถุประสงค์ให้นางสาวธิติมา ดื่มสุราจนเมา และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนายรัชเดช จำเลยที่ 1 ได้พานางสาวธิติมา ขณะนั้นอยู่ในภาวะมึนเมา โดยใช้กำลังประทุษร้ายไปกระทำอนาจารอุ้มออกจากบ้านหลังดังกล่าวไปขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พาไปที่ห้องพักคอนโดย่านดาวคนอง เขตธนบุรี ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังปราศจากเสรีภาพในร่างกายและถึงแก่ความตาย
ส่วนจำเลยที่ 2-6 ร่วมกันสนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และต่างล่วงรู้ถึงเป้าหมายของการจัดงานปาร์ตี้ โดยให้ลัลลาเบลดื่มสุราจนไม่สามารถครองสติและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วพวกจำเลยยินยอมให้จำเลยที่ 1 พาไปกระทำอนาจารโดยไม่ได้ขัดขวางหรือเข้าห้ามปราม จำเลยทั้งหมดที่ได้ประกันตัวไปก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ไปเป็นวันที่ 17 มกราคม 2566 โดยศาลให้เหตุผลว่าการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ
นายเทพพิทักษ์ พฤกษาสิทธิโรจน์ ทนายจำเลยที่ 2-4 เปิดเผยว่า เนื่องจากคดีมีรายละเอียดมาก จำเลยแต่ละคนมีพฤติการณ์ในคดีต่างกัน ศาลจึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ในส่วนจำเลยที่ตนเองทำคดีนั้นก็จะพยายามต่อสู้ในทั้งเรื่องของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดเหตุจนน้องลัลลาเบลเสียชีวิต ซึ่งข้อหาให้การสนับสนุนการกระทำผิด ถือเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในการต่อสู้คดีที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าไม่ได้มีเจตนา ส่วนเรื่องจำนวนเงินค่าชดใช้ค่าสินไหมแก่โจทก์นั้น ยืนยันว่าทางฝ่ายจำเลยมีเจตนาที่จะมอบเงินดังกล่าวให้แก่ญาติผู้เสียหาย แต่ต้องพิจารณาจำนวนเงินให้มีความเหมาะสมกว่านี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายรัชเดช จำเลยที่ 1 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย เป็นบทที่มีโทษหนักสุดให้จำคุก 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ลงโทษฐานเป็น ผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดดังกล่าว จำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน และให้จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมแก่โจทก์รวม 748,660 บาท.-สำนักข่าวไทย