กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดสูตร “ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” ตำรับแรกของไทย ใช้รักษาโควิดในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถกลืนยาเองได้ หลังพบแนวโน้มโควิดระลอกนี้ เด็กติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีอาการรุนแรง เชื้อลงปอดมากถึงร้อยละ 80-90 โดยจะเริ่มแจกจ่ายใช้ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นทะลุหลักหมื่นคนต่อเนื่องมา 20 วัน ส่งผลให้มีเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั่วประเทศในขณะนี้คาดมีมากกว่า 60,000 คน
ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัว “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” ตำรับแรกในประเทศไทย ผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อใช้ในเด็กและผู้สูงอายุที่กลืนยาเม็ดไม่ได้ หลังพบมีเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยาเร็วก็จะช่วยลดการรักษาในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตลงได้
สอดคล้องกับข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่พบว่าการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น เฉพาะเดือนกรกฎาคมสูงถึง 3 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือ เชื้อโควิดลงปอดเร็วขึ้น จากที่เคยพบร้อยละ 50 เพิ่มเป็นร้อยละ 80-90 ซึ่งการรักษาต้องให้เด็กกินยาฟาวิพิราเวียร์ด้วยวิธีการบดละลายน้ำ ทำให้กินยาก เพราะมีรสชาติขม ติดลิ้น แต่หลังจากมีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตขึ้นในเด็กอายุ 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 คน พบว่ากินง่าย ผลการรักษามีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง
สำหรับ “ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” จะจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยเด็กหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลืนยาเองได้ และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิดด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท ก่อน หากผลเป็นบวกก็จะให้ยา แต่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะต้องมีระบบติดตามอาการผลข้างเคียง โดยยานี้ต้องใช้ภายใน 30 วัน ใช้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 7 ปี โดยวันแรกจะให้ยามากเป็น 4 เท่าของปริมาณปกติ เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงเพียงพอต่อการต้านเชื้อไวรัส จากนั้นจะให้ตามข้อกำหนด วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ปริมาณขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเด็ก เฉลี่ยกินยานาน 5-10 วัน
ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเริ่มจ่าย “ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ สถานพยาบาล หรือแพทย์ ที่ต้องการใช้ยา สามารถขอรับยาได้ฟรี ผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยในระยะแรกสามารถผลิตยาให้ได้สัปดาห์ละ 300 คน จัดส่งยาให้ได้ภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อย ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลใดมีความพร้อมสามารถขอรับสูตรตำรับยานี้ไปช่วยกันผลิตได้ เพื่อให้มี “ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” เพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ.-สำนักข่าวไทย