กระทรวงดีอีเอสแจ้งความเพจผิดกฎหมาย
กรุงเทพฯ 19 ส.ค. ดีอีเอส แจ้งความเอาผิดเพจรอนัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ผู้สื่อข่าวรายงาน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบหมายให้ นายภุชพงค์ โนดไธสงค์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เข้ายื่นรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และได้นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนบก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารกลุ่มเฟซบุ๊ก ชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกระทำความผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรสร้างการดูหมิ่นเกลียดชังจนทำให้เกิดจนทำให้เกิดการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยซึ่งกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป นายพุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้รับความร่วมมืออย่างมากจากประชาชน ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์และเว็บผิดกฎหมายเข้ามาที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” โดยมีจำนวนการแจ้งเข้ามาระหว่างวันที่ 7-17 สิงหาคม2563 จำนวน 3,083 รายการ (ยูอาร์แอล) หรือเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจากการเปิดตัวเพจในสัปดาห์แรก โดยจำนวนที่แจ้งมามีข้อมูลซ้ำซ้อนกันจำนวน 840 รายการ โดยเมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 1,395 รายการ กระจายกันอยู่บนช่องทางโซเชียล และเว็บไซต์ ดังนี้ 1. เฟซบุ๊ก จำนวน 1,014 รายการ 2.ยูทูบ จำนวน 226 รายการ 3.ทวิตเตอร์ จำนวน 121 รายการ 4. เว็บไซต์ จำนวน 25 รายการ (ยูอาร์แอล) และ 5.Tiktok จำนวน 9 รายการ โดยศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 653 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการยื่น ขอศาล จำนวน 742 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 848 รายการ และสื่อโซเชียลเป็นช่องทางที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และมีจุดอ่อนในเรื่องกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมของข้อมูล ดังนั้น ประชาชนคนไทยและผู้ใช้สื่อโซเชียลทุกคน จึงเป็นกำลังสำคัญ ในการช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง และแจ้งเบาะแสเข้ามาที่เพจอาสา จับตา ออนไลน์ เพื่อช่วยกันป้องกันความเสียหายและผลกระทบทั้งในระดับตัวบุคคลและสังคม ที่จะเกิดขึ้นจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย รวมถึงข้อมูลที่บิดเบือน ได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตว่า สื่อโซเชียล ยังเป็นช่องทางหลักของการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย โดยเฟซบุ๊ก ยังเป็นช่องทางที่มีจำนวนมากสุด ส่วน Tiktok ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แนวโน้มกระแสความนิยมเพิ่มขึ้น ก็เริ่มถูกใช้เป็นช่องทางกระทำการผิดกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน-สำนักข่าวไทย.