สดช.ดีอีเอสจับมือผู้ให้บริการสื่อสารเปิดฟรีไว-ไฟ

กรุงเทพฯ 31 ส.ค. สดช. ผนึกกสทช. โอเปอเรเตอร์ CAT ปั้น Smart Sign On สำเร็จลงทะเบียนครั้งเดียวใช้ไวไฟ @TH Wi-Fi ฟรี นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช) เป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการSmart Sign On เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ โดยนางวรรณพร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากเพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐดังนั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงมุ่งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตมาเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมช่วยกระจายโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นสอดรับกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศไทย 4.0 โครงการที่จัดทำขึ้นนี้นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนแล้วยังมีอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดันและสร้างสิ่งดีซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติไปสู่อนาคตได้อย่างเข้มแข็งและก่อให้เกิดความภูมิใจในการสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมร่วมกัน นางวรรณพร กล่าวอีกว่า การริเริ่มจัดทำโครงการ Smart Sign On เกิดจากความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้สะดวกยิ่งขึ้นโดยจัดให้มีระบบตรวจสอบสิทธิ์การเข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่เชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองรวมทั้งบูรณาการร่วมกับโครงการบริการอินเทอร์เน็ตชายขอบซึ่งผู้ใช้บริการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว แต่จะสามารถใช้บริการ Free Wi-Fi ได้จากผู้ให้บริการทุกรายที่เข้าร่วมโครงการเช่นโครงการ Smart City จังหวัดภูเก็ตโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ขุมขนรวมทั้งการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะของผู้ให้บริการภาคเอกชนโดยประชาชนทั่วประเทศทั้งที่เป็นผู้ใช้งานใหม่และผู้ใช้งานรายเดิมสามารถเข้าใช้งาน Free Wi-Fi นี้ได้ในชื่อบริการ GTH Wi-Fi ด้วย Username และ Password เดียวกันทั้งในรูปแบบ Web Portal uas Mobile Application“ การจัดทำโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและ บริษัท ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นจํากัด (มหาชน) รวมทั้ง บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมบูรณาการในการพัฒนาการให้บริการระบบตรวจสอบสิทธิ์การเข้าใช้งาน (Smart Sign On) ได้เป็นผลสำเร็จ สดช. ต้องการแก้ปัญหาความยุ่งยากในการใช้ฟรีไวไฟที่ต้องลงทะเบียนหลายครั้ง แต่โครงการ​นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้นเพราะลงทะเบียนครั้งเดียว ขณะที่​ เรื่องความปลอดภัยขอให้มั่นใจ​เพราะให้กสท.ดูแล เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวสามารถใช้งานได้แล้วที่จุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีในที่สาธารณะที่กระจายอยู่ตามสถานที่ชุมชนอาทิสถานศึกษาสถานบริการภาครัฐสถานีขนส่งรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ – สำนักข่าวไทย.

เอบีมเผยการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มหลังโควิด-19

กรุงเทพฯ 31 ส.ค. เอบีม คอนซัลติ้ง เผยแนวโน้มเติบโตในการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล  นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใด และได้สร้างการ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่างทางสังคมและการปิดพรมแดน ส่งผลให้การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจถูกจำกัดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ฃจากความจำเป็นในเรื่องของการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ปริมาณข้อมูลมหาศาลจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตกำลังถูกสร้างและจัดเก็บ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากการช้อปปิ้งออนไลน์ การใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และเวลาที่ใช้ในการท่องอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากและจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จากผลกระทบหลักที่อาจจะมาจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิดและการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อ้างถึงรายงานของ GDPR พบว่า มากกว่าร้อยละ 38 ของกรณีที่ละเมิด GDPR เป็นกรณีที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด  ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีรายงานว่า ทั่วโลกมีการละเมิดข้อมูลอยู่ประมาณ 8.8 พันล้านข้อมูล ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3.92 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเงิน การหยุดชะงักของธุรกิจ ภาระผูกพันตามกฎหมาย และการทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ เกิดความเสี่ยง องค์กรจะต้องกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อจะบรรเทาความเสี่ยงและป้องกันการเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม นายอิชิโร กล่าวอีกว่า ความจำเป็นที่เกิดขึ้นตามมาคือ องค์กรธุรกิจจะต้องรับมือกับข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดเก็บมาใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนี้อย่างไรให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA หรือ คำถามที่ว่า  ลูกค้าได้ตระหนักรู้อย่างเต็มที่แล้วใช่หรือไม่ ว่าองค์กรได้ขออนุญาตเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้สำหรับทำอะไรรวมทั้งคำถามที่ว่า สิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคนอะไรบ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย องค์กรควรปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเชิงรุก ด้วยการปรับลักษณะของการจัดการ การปรับใช้เทคโนโลยี และการปฏิรูปกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  แม้ว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกเลื่อนออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 แต่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีการเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นที่เรียบร้อย โดยในช่วงรอยต่อของช่องว่างการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่องค์กรต่าง ๆ จะเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ที่จำเป็นตามที่กฎหมายระบุไว้ให้พร้อม เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีความพร้อมที่จะรับมือกับการบังคับใช้กฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่คาดว่าจะทยอยออกมาบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ จากรายงาน IAPP-EY Annual Privacy Governance Report 2019 เปิดเผยว่า ร้อยละ 45 ขององค์กรเท่านั้น ที่ปฏิบัติตาม GDPR อย่างสมบูรณ์เต็มที่ และร้อยละ 42 ที่อยู่เพียงขั้นปานกลางในการทำให้การจัดเก็บจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย GDPR ประกาศใช้มา 4 ปี และมีผลบังคับใช้เต็มที่เมื่อพฤษภาคม 2561 เท่ากับว่าองค์กรมีเวลามากกว่า 1 ปีในการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่ GDPR จะมีผลบังคับใช้จริง แต่กระนั้นก็ตาม มีองค์กรประมาณร้อยละ 54 ใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีหลายองค์กรที่ยอมรับว่ายังติดขัดกับการความท้าทายในการทำให้สอดคล้องกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการบริหารจัดการความยินยอมของลูกค้า  และระบบการขอเข้าถึงข้อมูล ความยากอันดับต้น ขององค์กรที่จะทำการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ การบริหารจัดการการยินยอมของลูกค้าและมาตรฐานการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการสูญเสียข้อมูล ซึ่ง “Centralized Consent Management Platforms” สามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ เพียงแต่ในความเป็นจริงแล้วร้อยละ 44 ขององค์กร มีระบบจัดเก็บการยินยอมของลูกค้ามากกว่า 25 ระบบ ดังนั้น มีความจำเป็นจะต้องรวบรวมระบบเข้าสู่แพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำธุรกิจ และกลไกในการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อมั่นใจได้ว่าระบบจัดเก็บการยินยอมของลูกค้านั้นเป็นปัจจุบัน และต้องทำให้ลูกค้าสามารถทำการอนุญาตละถอนการอนุญาตได้ด้วยตัวเอง อาทิ องค์กรจะต้องตอบสนองคำขอสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด คือ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่มีการตรวจสอบการร้องขอจากลูกค้า  ความท้าทายเหล่านี้สัมพันธ์กับความซับซ้อนในการบริหารจัดการระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด จากสถิติ พบว่าประมาณร้อยละ 36 ขององค์กร ใช้เวลามากกว่า 3 สัปดาห์ในการตอบสนองคำขอสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล (DSR) ขณะที่ร้อยละ  58 มีพนักงานเพียง 26 คนในการบริหารจัดการคำขอสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลที่มีเข้ามา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 คนในการตอบสนองคำขอสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 70,000 เหรียญต่อเดือน หรือคิดเป็นต้นทุนประมาณ 1,400 เหรียญต่อหนึ่งคำขอสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสเจอมือดีพยายามแฮคเว็บกระทรวง

กรุงเทพฯ 28 ส.ค . กระทรวงดีอีเอส โดนมือดีพยายามโจมตีกลางดึกโชคดีป้องกันทัน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ว่า เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามเจาะเข้าระบบเว็บไซต์ (แฮค) กระทรวงดีอีเอส หรือ www.mdes.go.th  ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นระบบที่เข้ามาทำให้การเข้าถึงเซิฟเวอร์ของเว็บไซต์มีปัญหา ทำให้การประมวลผลล่าช้า โดยไทยเซิร์ตใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เว็บไซต์เกิดความเสียหาย “เนื่องจากเรามีระบบการป้องกันของไทยเซิร์ต ทำให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันทวงที ทำให้เว็บไซต์ไม่ล่มหรือเกิดความเสียหาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีที่พยายามแฮคเว็บไซต์ของกระทรวงเป็นใคร และมาจากไหน”  นายพุทธิพงษ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม มองว่าความพยายามเจาะเข้าระบบเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นจุดบกพร่อง และช่วยทดสอบระบบการป้องกัน เพื่อปรับปรุงระบบให้พร้อมรับมือตลอดเวลา เป็นตัวอย่างให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเฝ้าระวัง ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดเป็นกังวลด้านความปลอดภัย สามารถติดต่อมาที่กระทรวงดีอีเอสได้ โดยให้ไทยเซิร์ตช่วยตรวจสอบความผิดปกติของระบบและแก้ไขปัญหา ซึ่งมีทีมงานคอยมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง-สำนักข่าวไทย.

เอ็ตด้าเผยอีคอมเมิร์ซไทยปี 62 มูลค่าแตะ 4.02 ล้านล้านบาท

กรุงเทพฯ 28 ส.ค. เอ็ตด้าเผยมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย ปี 62 โตพุ่ง 4.02 ล้านล้านบาท นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กล่าวถึงผลสำรวจฯ โครงการการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (Value of e-Commerce Survey in Thailand) ว่า ผลการสำรวจ พบว่า ภาพรวมมูลค่าอีคอมเมอร์ซแบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2561 ไทยครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุด 5 ปีซ้อน มูลค่ารวมกว่า46.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2560 ถึง ร้อยละ99.61 รองลงมา คือ มาเลเซีย 21.53 พันล้านเหรียญฯ  อินโดนีเซีย 9.50 พันล้านเหรียญฯ เวียดนาม 7.65 พันล้านเหรียญฯ และสิงคโปร์ 4.94  พันล้านเหรียญฯ คาดปี 2563 หลายประเทศมีแนมโน้มปรับตัวอย่างก้าวกระโดด อันดับมูลค่าอาจเปลี่ยนแปลง โดยปี 62 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.02 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 6.91 มีมูลค่ารวมกว่า 3.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท ถึงร้อยละ 36.36 โดยรายได้ส่วนใหญ่มากจากการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ภายในประเทศถึงร้อยละ 91.29 ทั้งนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2563 จากพฤติกรรม New Normal ที่คนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้มูลค่าอีคอมเมอร์ซจำแนกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ในปี 2561 ผู้ประกอบการ กลุ่ม B2B ยังคงครองแชมป์มูลค่าสูงสุดต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน มีมูลค่าสูงถึง 1.80 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่มB2C 1.41 ล้านล้านบาท และกลุ่ม B2G 5.55 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ปี 2562 มูลค่าจะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม B2G เพิ่มมากสุดถึงร้อยละ 11.53 เป็น 6.19 แสนล้านบาท ขณะที่ กลุ่ม B2B และ B2C เพิ่มร้อยละ 6.11 เป็น 1.91 ล้านล้านบาท และ 1.49 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ ในปี 2563 มีหลายประเด็นน่าจับตา โดยเฉพาะการเติบโตของ กลุ่ม B2C ที่เป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้บริโภครายย่อยช่วงกักตัวอยู่บ้านที่ทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่วน B2G อาจตกอันดับไม่เติบโตสูงสุดอีกต่อไป หากการเบิกจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ล่าช้า การจัดซื้อจัดจ้างหยุดชะงักช่วงโควิด-19 สำหรับกลุ่มค้าปลีก–ค้าส่ง มูลค่านำอุตสาหกรรมอื่น โดยมีมูลค่าจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า จากการคาดการณ์ปี 2562 อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท รองลงมา คืออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 9.81 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมการผลิต 4.99 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 4.34 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการขนส่ง 1.55 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ 2.32 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1.54 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมการประกันภัย 582 ล้านบาท ตามลำดับ โดยคาดปี 2563 อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งจะมีมูลค่า e-Commerce พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากยอดการเข้าถึงแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์และภาพรวมคำสั่งซื้อในช่วงสถานการณ์การป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สวนทางกับมูลค่าของอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักที่คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักลดลง และโรงแรมในประเทศต่างต้องปิดตัวชั่วคราวหลายแห่ง มูลค่าอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง จำแนกตามประเภทสินค้าและบริการ (ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ) พบว่า จากการคาดการณ์ปี 2562 ประเภทสินค้าและบริการ 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า 9.39 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 9.11 แสนล้านบาทในปี 2561 รองลงมา คือ เครื่องสำอางและอาหารเสริม 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มจาก1.45 แสนล้านบาทในปี 2561 แฟชั่น เครื่องแต่งการและเครื่องประดับ 9.68 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.01 แสนล้านบาทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 3.30 หมื่นล้านบาท และอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตผลทางการเกษตรและประมง 3.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 3.37 หมื่นล้านบาท โดยปี 2563 จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จนนำมาสู่มาตรการ Lockdown ปิดห้างสรรพสินค้า การปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์จึงอาจเป็นคำตอบของทางรอด ที่จะทำให้มูลค่า e-Commerce ในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ ที่คาดการณ์ว่าปี 2563 ตลาดจะโตอย่างน้อยร้อยละ 30 อุตสาหกรรมไหน น่าจับตา เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตมูลค่า อีคอมเมิร์ชตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ช่วงปี 2561-2562 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย เติบโตถึงร้อยละ 33.62 รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการขนส่งร้อยละ 31.30 และอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการร้อยละ 21.63 โดยประเภทสินค้าและบริการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ที่มีมูลค่าเติบโตจากปี 2561 มากที่สุด คือธุรกิจการศึกษา บริการที่เกี่ยวข้องแอปพลิเคชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.56 รองลงมา คือ ธุรกิจเพลง โรงภาพยนต์และ e-Movie เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.55 และ ธุรกิจเกมออนไลน์ เพิ่มร้อยละ 2.52 ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2563 การเติบโตมูลค่าอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการอาจแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเข้ามาของ Media Streaming Platform ของต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสัดส่วนมูลค่าของ Digital Media เช่น Facebook YouTube LINE และ TikTok ที่เติบโตขึ้น  นอกจากนี้ยังคาดว่าในปี 2563 คาดมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น มูลค่าอีคอมเมอร์ซจำแนกตามขนาดธุรกิจ คาดการณ์ปี 2562 ผู้ประกอบการ Enterprises จะมีมูลค่า 2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 8.94 และผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีมีมูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.27 โดยภาพรวมของเอสเอ็มอีในปี 2563 คาดว่า อาจมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นสะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของร้านค้าและประชาชนที่เข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ลาซาด้าแพลตฟอร์ม พบ ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 26,000 รายและยังเกิดช่องทาง Social Commerce ใหม่ ช่องทางการตลาด ยอดนิยมในธุรกิจ อีคอมเมิอร์ซโดยปี 2561 พบว่า ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่ ผู้ประกอบการ เลือกใช้มากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ LINE ร้อยละ 32.1 รองลงมา คือ Facebook Ads ร้อยละ  30.27  Instagram Ads 26.83 ช่องทางอื่น เช่น การจ้าง Influencer ให้รีวิวสินค้าผ่าน TikTok ร้อยละ 5 และ Google Ads ร้อยละ 2.8 ขณะที่ ช่องทางที่ผู้ประกอบการ Enterprises เลือกใช้มากที่สุด ได้แก่ Facebook ถือเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ที่มี Return Of Investment (ROI) ดี และสร้างยอดขายได้มากที่สุดร้อยละ 95 รองลงมา คือ Google Ads ร้อยละ  75  LINE ร้อยละ 60 Instagram Ads ร้อยละ 35 และ YouTube ร้อยละ 30 ตามลำดับ โดยคาดการณ์ปี 2563 ช่องทางการตลาดดิจิทัลใหม่มาแรงคงหนีไม่พ้น  TikTok  เพราะจากข้อมูลในไตรมาสแรกปี 2563 TikTok มีจำนวน users ในไทยมากกว่า 10 ล้าน users และได้รับการดาวน์โหลดแล้ว 315 ล้านครั้ง นับเป็นยอดการดาวน์โหลดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา สำหรับช่องทางการชำระเงิน โดยปี 2561 พบว่า ช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ชำระเงินให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด คือ ช่องทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร  46.37 รองลงมา คือ บัตรเครดิต/บัตรเดบิตร้อยละ  24.46 และบัตรพรีเพด ร้อยละ 19.4 ส่วนช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ชำระเงินให้กับผู้ประกอบการ Enterprises มากสุด คือ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร ร้อยละ38.14 รองลงมา คือ บัตรเครดิต/บัตรเดบิตร้อยละ 31.4 และการสั่งจ่ายด้วยเช็ค (Cheque) /ใบสั่งของ (Purchase Order) ร้อยละ 16.76 ส่วนในปี 2563 จากวิกฤตโควิด-19 อาจนำไปสู่สังคมไร้เงินสดและคาดว่าความคุ้นชินนี้จะกลายเป็น New Normal ช่องทางการขนส่ง ปี 2561 พบว่า ช่องทางที่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ใช้ส่งสินค้าและบริการมากสุด คือ บริษัทไปรษณีย์ไทย ร้อยละ 94.55 รองลงมา คือ บริษัทจัดส่งสินค้า เช่น DHL, Nim Express, FedEx, Kerry ร้อยละ 26.14 ส่วนผู้ประกอบการ Enterprises ช่องทางที่ใช้มากสุด คือ บริษัทจัดส่งสินค้า ร้อยละ 50 รองลงมา คือ บริษัทไปรษณีย์ไทยร้อยละ  46.1 สำหรับ Hot Issue ด้าน Digital Workforce ที่ธุรกิจ อีคอมเมิอร์ซต้องการมากที่สุดคือ สาย Programmer & Developer/IT Support ทั้งใน SMEs และ Enterprises สูงสุด ร้อยละ 20.5 และร้อยละ 23.08 ขณะที่สายงานด้าน Social Media Administration ก็ติด Top 3 ที่ผู้ประกอบการต้องการเช่นกัน ซึ่งทุกปี ไทยกลับมีเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ประมาณ 4-5 แสนคน โดยร้อยละ63 จบปริญญาตรีในสายสามัญ ขณะที่ตลาดต้องการแรงงาน Digital Workforce และหลังวิกฤต โควิด-19 คาดการณ์ Online จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงภาคการศึกษา ก็ต้องปรับ ขยับวิธีการเรียนการสอน (e-Learning) และมีหลักสูตรผลิตแรงงานรองรับเทรนด์ของธุรกิจดิจิทัล และ New Normal ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป-สำนักข่าวไทย.

รมว.ดีอีเอสกำชับเอ็ตด้า เป็นองค์กรกำกับ เร่งทำ มาตรฐานดิจิทัล

กรุงเทพฯ 28 ส.ค. รมว.ดีอีเอส กำชับเอ็ตด้าเป็นองค์กรกำกับดูแลเร่งทำกฎหมาย สร้างมาตรฐานดิจิทัลพร้อมสร้างแพลตฟอร์มกลางรับเรื่องร้องเรียนประชาชน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Future of Digital Economy and Society ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่จะคอยบอกว่าเรื่องราวใด เทคโนโลยีใด อุปกรณ์ใด ดีหรือไม่ดี สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่จะบอกได้ดีคือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือเอ็ตด้า สิ่งที่ควรทำในการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มี 2-3 เรื่อง คือ การดูแลแก้ไขกฎหมายให้ไปข้างหน้าทันกับความเปลี่ยนแปลง เอ็ตด้าคงเป็นผู้คาดการณ์และทำกฎหมายเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น ถัดมาคือการทำมาตรฐานของเทคโนโลยีที่เหมาะสมในให้บริการในธุรกิจ เมื่อมีมาตรฐานแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อคือการตรวจสอบให้ผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีนั้นดำเนืนการตามมาตรฐาน บทบาทของเอ็ตด้าที่ไม่เคยทำมาก่อนคือการเป็นผู้กำกับดูแลการทำธุรกรรมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย มาตรฐานทางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความจำเป็นต้องทำและต้องเกิดขึ้น “สิ่งที่ผมอยากเห็นจากเอ็ตด้าคือ ทำให้เรามีไทยแลนด์ซิงเกิ้ลแพลตฟอร์ม (Thailand Single Platform )หรือ การมีแพลตฟอร์มเดียว แพลตฟอร์มของไทยที่ใช้ในการร้องเรียนร้องทุกข์เป็นการเอาระบบดิจิทัลมาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เมื่อแพลตฟอร์มรับเนื่องแล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว รัฐมนตรีดิจิทัลฯ กล่าวอีกว่า การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชานได้รับความสะดวกในการใช้บริการภาครัฐหรือการทำธุรกรรม ถ้าเรายังยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จะกลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ นอกจากนี้จากผบกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 อยากให้เอ็ตด้าการช่วยคิดและทำสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตใหม่ทางดิจิทัลสำหรับประชาชน (New Normal) อาจจะเป็นระบบหรือแพลตฟอร์มสำหรับการประชุมทางไกลที่มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือ หรือระบบการสั่งอาหาร การเรียกรถสำหรับประชาชนก็ขอให้ช่วยกันคิดและพัฒนา  -สำนักข่าวไทย.

เอ็ตด้าตั้งเป้าพาคนไทยโกดิจิทัล

กรุงเทพฯ 28 ส.ค. เอ็ตด้าโชว์ผลงานปี 63 พร้อมเผยก้าวต่อไปตั้งเป้าภายในปี 65 พาคนไทย Go Digital with ETDA ครอบคลุมบริการดิจิทัลที่สำคัญทุกคนเชื่อมั่นและเข้าถึงได้ นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กล่าวว่า เอ็ตด้ามีเป้าหมายสำคัญคือ“ Go Digital with ETDA” หรือการเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลกภายใต้บทบาทหน้าที่หลักคือการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและสุดท้ายคือการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลสร้างความน่าเชื่อถือรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยงานสำคัญทั้งการกำกับดูแลธุรกิจบริการด้านดิจิทัลพัฒนามาตรฐานและกฎหมายด้านดิจิทัลการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลไอดีการป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์และการพัฒนาความพร้อมของคนดิจิทัล ทั้งนี้ในปี 2563 เอ็ตด้าได้ส่งมอบงานสำคัญผ่าน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการ Digital Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นใจมีกลไกกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือผ่านกฎหมายและมาตรฐานสำคัญ ๆ เช่นร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ. Digital ID) รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดีเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เชื่อถือได้สะดวกรวดเร็วและร่าง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA) รวมทั้งการออกข้อเสนอแนะฯ มาตรฐานแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายลดความเสี่ยงรวมถึงผลักดันเรื่องระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Meeting ทั้งการออกกฎหมายและมาตรฐานในช่วงโควิด -19 ที่ผ่านมาซึ่งช่วยปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่เดิมและช่วยรับรองผู้ให้บริการระบบประชุมเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้งานด้วยพร้อมเปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบการใช้นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้สอดคล้องข้อกฎหมายหรือมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนการใช้งานจริง 2. โครงการ Speed-up e-Licensing เร่งเครื่องระบบดิจิทัลในบริการภาครัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วโดยการพัฒนาบริการของรัฐให้เป็นบริการดิจิทัลผ่านโครงสร้างข้อมูล (Schema) การออกใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัลพร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับบริการดิจิทัลของด้วยการตรวจประเมินรับรองระบบสารสนเทศและการใช้บริการ e-Timestamping ประทับรับรองเวลาของ e-Document 606 3. โครงการ Digital Transformation ให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัยห่างไกลภัยไซเบอร์ด้วยโครงการ Government Threat Monitoring System (TM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานรัฐพร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat Watch ยกระดับการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. โครงการ Thailand -Commerce Sustainability ลดเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้ด้วยอีคอมเมิร์ชอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพอีคอมเมิร์ซชุมชนทั่วประเทศรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซปูทางความพร้อมให้กับนักเรียน (ทสรข.) นักศึกษา (มศว, เอแบค ฯลฯ ) เพื่อป้อนตลาดแรงงานยุคดิจิทัลเปิดหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ได้ผ่านแพลตฟอร์มของเอ็ตด้าและสำนักงาน ก.พ. พร้อมผลักดันแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้ทุกภาคส่วนตลอดจนเดินหน้าสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมูลค่าอีคอมเมิร์ชประเทศไทยและสถิติต่าง ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับไปวางแผนการตลาดและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้ 5. โครงการStop e-Commerce Fraud ทั้งคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกผ่านการนำเครื่องมือ Social Listening วิเคราะห์ข้อมูลในโลกออนไลน์เพื่อนำมาแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดเหตุหรือลุกลามและการจัดอบรมและเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจเพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น  นายชัยชนะกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายและแผนการดำเนินงานก้าวต่อในปี 64 เอ็ตด้าจะเดินหน้าดำเนินงานผ่าน 3 โครงการที่จะยกระดับการขับเคลื่อนจากปี 63 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นดังนี้ 1. การนำการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของของประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานพร้อมผลักดันแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมให้ทุกภาคส่วนนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในทิศทางเดียวกันพร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคต (Foresight) ชัดเจนขึ้นสู่การกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินธุรกิจและการทำการตลาดรวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัลไปพร้อม ๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยกระดับการคุ้มครองโดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น 2. การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัลด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์กฎหมายมาตรฐานรวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่เปิดให้บริการไปแล้วและกำลังจะเปิดให้บริการเช่นบริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน 3. การเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมั่นใจปลอดภัยด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐานและแบบจำลองข้อมูล (Data Model) แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานสนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์Digital ID และ e-Signature สร้างความพร้อมความตระหนักแก่บุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมพร้อมให้บริการเฝ้าระวังตอบสนองและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ“ จากการดำเนินงานข้างต้น เอ็ตด้าตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 65 ประเทศจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐานหรือ Digital Services Landscape ที่ครบถ้วนเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศรวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID หรือ Digital ID Ecosystem สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้างและหน่วยงานรัฐจะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Service และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-office ภายใต้มาตรฐานกฎเกณฑ์และการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงของเอ็ตด้าที่จะพาทุกภาคส่วน Go Digital ไปพร้อมกัน-สำนักข่าวไทย.

วช. จับมือ คพ. สู้ปัญหาฝุ่น PM2.5

กทม. 27 ส.ค.63 – สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จับมือ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมมือศึกษาวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และเครือข่ายความร่วมมือ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการศึกษาวิจัยด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งงานวิจัยด้านป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และแสดงความมุ่งมั่นที่สนับสนุนแผนงานวิจัย ในชุดโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งประเทศไทยช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะประสบปัญหาฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการวิจัยนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะยกระดับมาตรการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจในการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน สำหรับชุดโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทยอย่างบูรณาการเชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ 1.การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 2.การประเมินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ3.การศึกษาเพื่อนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นายประลอง ดํารงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะจะทำให้เกิดการรับฟังความเห็นของทั้ง 2 หน่วยงาน มีการประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติและอื่นๆ นำมาตรการสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะต่อไป สิ่งสำคัญเป็นการ เชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการใช้แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  บนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วนงานภาครัฐกับสถาบันการศึกษา 5 แห่ง รวม 4 แผนงาน 8 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เบื้องต้นจะนำร่องศึกษาการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งกำเนิด PM 2.5 ภาคการขนส่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่า จะเห็นผลภายใน 6 เดือน .-สำนักข่าวไทย

กูเกิลประกาศโครงการช่วยเอสเอ็มอีฟื้นฟูประเทศไทยหลังโควิด-19

กรุงเทพฯ 27 ส.ค. กูเกิล ประกาศโครงการช่วยฟื้นฟูประเทศไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน นางแจ็คกี้ หวาง ผู้จัดการ กูเกิลประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการกูเกิลประเทศไทยได้พิ่มโครงการSaphan Digital โดยเป็นความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และพันธมิตรจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไป และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้เข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลและเรียนรู้ทักษะดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจับคู่กับผู้ประกอบการและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อรับประสบการณ์จริงจากการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อทำงานกับองค์กรกูเกิลต้องการให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.3 ล้านรายที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19  กูเกิลตระหนักว่าวิถีชีวิตใหม่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาทำธุรกิจแบบออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปได้ ดังนั้น พวกเขาจึงควรได้รับการเสริมสร้างความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจ นางสาวอภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย กูเกิลคอนซูมเมอร์ โซลูชั่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลจะสนับสนุนบุคลากรและเครื่องมือในการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ การธนาคาร อีคอมเมิร์ซ บริการส่งของออนไลน์ การจัดหางานออนไลน์ และคอมมูนิตี้สเปซ โดยการรวบรวมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเครื่องมือดิจิทัลเข้าด้วยกันในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ได้ยกระดับทักษะดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้กูเกิลได้เปิดต้วโครงการDeveloper Student Club ที่ร่วมมือกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมที่แข็งแกร่งในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย โดย Developer Student Club จะเป็นกลุ่มชุมชนสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สนใจเทคโนโลยีของกูเกิล […]

เตรียมจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์

กทม. 25 ส.ค. 63 – สนช. เตรียมจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ – อินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป  ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบเสมือนจริงครั้งแรก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เตรียมจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์และวันนวัตกรรมแห่งชาติ (STARTUP THAILAND x INNOVATION THAILAND 2020) ระหว่างวันที่ 1-4 กันยานยน 2563 ผ่านเว็บไซต์ https://stxite2020.nia.or.th/ ในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริงครั้งแรกของประเทศไทย ผนึกกำลังครั้งสำคัญสตาร์ทอัพและนวัตกรรมชั้นนำของไทย เข้ามาร่วมกันแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศผ่านแพลตฟอร์มอีเว้นท์ออนไลน์  ที่ NIA ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล โดย ปีนี้ NIA ยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวม 133 องค์กรพันธมิตร และอีกกว่า 400 หน่วยงาน ร่วมแสดงกิจกรรมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจนวัตกรรมให้สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงร่วมกันทุกภาคส่วน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  กล่าวว่า ในงานปีนี้จะมี 4 กิจกรรมหลักได้แก่ งานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบเสมือนจริง เน้นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก […]

นักกฎหมายไอทีชี้เฟซบุ๊กฟ้องได้แค่ขอยกเลิกคำสั่งศาล

กรุงเทพฯ 25 ส.ค. ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชี้เฟซบุ๊กฟ้องได้แค่ให้ยกเลิกคำสั่งศาล ชี้การออกคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย อยู่บนหลักการกฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำเป็นอำนาจศาลไทยไม่สามารถก้าวล่วงได้ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวกรณีที่เฟสบุ๊กออกแถลงการณ์จะโต้แย้งทางข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยว่า หากเฟซบุ๊กจะโต้แย้งทางข้อกฎหมายอย่างที่แถลงการณ์ระบุก็สามารถทำได้โดยน่าจะเป็นการฟ้องเพื่อยกเลิกคำสั่งศาล ไม่ใช่ฟ้องรัฐบาลไทยอย่างที่เข้าใจกับ และเชื่อว่าถึงจะฟ้องไปก็น่าจะมีเหตุผลสนับสนุนคำฟ้องค่อนข้างน้อย  เพราะคำสั่งปิดบล็อกเว็บไซต์เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาลไทยที่สามารถสั่งได้ และคำสั่งศาลนั้นเป็นอำนาจอธิปไตยขององค์กรตุลาการของแต่ละประเทศไม่สามารถก้าวล่วงได้ การที่ศาลไทยมีคำวินิจฉัยออกมามีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าการกระทำที่เกิดขึ้นผิดกฎหมาจจึงออกคำสั่ง นอกจากนี้ การปิดบล็อกเว็บไซต์เป็นการใช่อำนาจตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่มีต้นร่างมาจากหลักกฎหมาย Cyber Crime Convention ที่ต่างประเทศใช้กับซึ่งกฎหมายฉบับนนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มีการกล่าวอ้าง-สำนักข่าวไทย.

ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลเตรียมปรับปรุงโครงข่าย

กรุงเทพฯ 25 ส.ค. ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯเริ่มปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศโครงข่ายทีวีดิจิตอล ตามนโยบายของ กสทช. เริ่ม ก.ย. นี้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) กล่าวว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) เดินหน้าปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ของ กสทช. เริ่ม ก.ย.นี้ พร้อมเปิดคู่สายผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สอบถาม หากพบปัญหาในการรับชม ทั้งนี้ตามที่ กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ รวมถึงคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง เพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมในการรองรับเทคโนโลยี 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศ โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เนื่องจากสัญญาณอาจประสบปัญหาโดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละโครงข่ายฯ ระหว่างเดือนกันยายน 2563  – กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่แรกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2563 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และบริเวณใกล้เคียงในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ต่อด้วยพื้นที่ภาคเหนือในเดือนตุลาคม 2563 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก คาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในการปรับปรุงโครงข่ายฯ ทางชมรมโครงข่าย กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นผู้รับรองมาตรฐาน แต่เนื่องจากในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาปรับจูนหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งและคอมบายเนอร์ตามแผนที่กำหนดได้ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จึงได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า  จะให้เจ้าหน้าที่หรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมและมีใบรับรองมาตรฐานสากลดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยต่อไป นายเขมทัตต์ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ข้างต้นหากผู้ชมพบว่าไม่สามารถรับชมรายการผ่านสายอากาศแบบก้างปลาได้ตามปกติอาจจะต้องปรับจูนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Set Top Box) เพื่อให้สามารถกลับมารับชมดิจิทัลทีวีได้อีกครั้ง โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์  ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบวันเวลาปรับเปลี่ยนสัญญาณในพื้นที่ พร้อมคู่มือการจูนสัญญาณโดยละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ http://700.nbtc.go.th หรือหมายเลขโทรศัพท์  Call Center 020-700-700  ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล  4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) -สำนักข่าวไทย.

1 32 33 34 35 36 51
...