กสทช.คาดตลาดสื่อสารปี63โดนพิษโควิด-19ทำตลาดโตลด

กรุงเทพฯ 10 ก.ย. กสทช.เผยมูลค่าตลาดโทรคมนาคมปี 62 โต 6.1 แสนล้านบาท คาดปี 63 โดนพิษโควิด-19ตลาดมีแววโตลดลง นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงรายงานผลการสำรวจมูลสื่อสารโทรคมนาคม ปี 2562 และประมาณการปี 2563 ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวส่งผลให้ตลาดสื่อสารของประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่า 619,143 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เพียงร้อยละ 0.9 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตลาดสื่อสารในปี 2563 ปรับตัวลดลงมีมูลค่าประมาณ 605,108 ล้านบาทลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2.3 ในส่วนของตลาดอุปกรณ์สื่อสารแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ภาคเอกชนยังต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายส่งผลให้การลงทุนในตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 262,705 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 2.3 ส่วนการลงทุนและการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารในปี2563 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการจัดให้มีการประมูลคลื่น 5G ของกสทชและสำนักงานกสทช. ในเดือนกุมภาพันธ์2563 แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนการดำเนินงานเพื่อลงทุนในโครงข่าย 5G อาจล่าช้ากว่าปกติรวมถึงการใช้จ่ายในตลาดอุปกรณ์สื่อสารด้านต่างๆเป็นไปด้วยความระมัดระวังจึงคาดว่ามูลค่าของตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2563 นี้จะปรับตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 250,021 ล้านบาท การสำรวจการใช้จ่ายในตลาดบริการสื่อสารพบว่าในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 356,438 ล้านบาทลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการทางเลือก (OT) มากขึ้นส่งผลให้มูลค่าของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการสื่อสารข้อมูลเติบโตในกรอบแคบ ๆ ขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่และบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสำหรับมูลค่าของตลาดบริการสื่อสารในปี 2563 สำนักงานกสทช. คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 355,087 ล้านบาทลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 0.4 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงการใช้ประโยชน์จากการให้บริการด้วยคลื่น 5G อาจล่าช้าและทำให้ตลาดหดตัวลงเล็กน้อย การสำรวจและวิเคราะห์จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบว่าในปี 2562 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่โดยในปี 2562 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 51.19 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 79 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.6 ในปีนี้เป็นผลให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 5355 ล้านคนในส่วนของปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาพบว่าในปี 2562 ปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธภายในประเทศ (Domestic Bandwidth) เท่ากับ 8,338.64 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 16.6 และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,097.45 Gpbs หรือเพิ่มขึ้นจากปี2562 ร้อยละ 9.1 ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธไปต่างประเทศ (International Bandwidth) ในปี 2562 เท่ากับ10,575.75 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 34.5 และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,467.62 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 36.8 -สำนักข่าวไทย.

คณะแพทย์มช.พัฒนาแพลตฟอร์มบริการสาธารณสุข

เชียงใหม่ 9 ก.ย.คณะแพทยศาสตร์ มช. จับมือ ซิสโก้ พัฒนา Med Tech ในการให้บริการสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน สู่ความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์(Digital Healthcare Experience) โดยความร่วมมือมีจุดมุ่งหมายสำคัญดังนี้ สร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้กับผู้ใช้บริการ และบุคลากรการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience) โดยมีการพัฒนาในสองระบบคือ ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System) สร้างระบบจัดสรรข้อมูลด้านลอจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถานบริการเครือข่าย 13 แห่งในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการเดินทางของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System) ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย และโมบายแอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการคิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Acceleration) เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่านสามโครงการคือ โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis  Screening Project): เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้นผ่านระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ AI และ Deep Learning ที่มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง และขอคำปรึกษาทางไกลในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ห่างไกลได้ โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Care: สร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx เสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล และโครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project): ยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่  อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้อง ผ่านการอบรมทางไกล และนำประสบการณ์ไปดูแลผู้ป่วยและรายงานความคืบหน้าผลการรักษาผ่าน Cisco Webex ซึ่งเป็น Smart Learning Platform และ Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online learning system เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทำให้ลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ความร่วมมือนี้มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยทางซิสโก้มีการสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure), เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI),  แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML), ไอโอที (IoT), เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technologies) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking) นายบรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับซิสโก้ที่ผ่านมา เรามีความมั่นใจทั้งในส่วนขององค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย โซลูชั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย และพร้อมสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ฯ ในการยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience) เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการในอนาคต  นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “ดิจิทัลเฮลท์แคร์เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการให้บริการด้านสาธารณสุข จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ ซิสโก้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกด้วยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) และโซลูชันนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน รวมถึงโมบิลิตี้ ความปลอดภัยและดาต้าเซ็นเตอร์ ซิสโก้มีความยินดีที่ยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานต่อความร่วมมืออีกขั้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการดิจิทัลทางการแพทย์แบบครบวงจร ซิสโก้มีความยินดีในการนำเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นให้เป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างแท้จริง-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสส่งเอ็ตด้ากู้ข้อมูล รพ.สระบุรี เชื่อระบบมีช่องโหว่

รมว.ดีอีเอส ส่งทีมงานจากเอ็ตด้ากู้ระบบ รพ.สระบุรี คาดได้ข้อมูลคืนบางส่วน พบข้อมูลที่ถูกปิดกั้นคือประวัติคนไข้ย้อนหลัง 3 ปี

รมว.ดีอีเอสเข้มสั่งไอเอสพีบล็อกเว็บพนันออนไลน์

กรุงเทพฯ 9 ก.ย. รมว.ดีอีเอส เข้มสั่งไอเอสพีบล็อกเว็บพนัน ขู่ไม่ทำถือว่าผิดด้วย  นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ระหว่าง กสทช. กับไอเอสพี และโอเปอเรเตอร์ทุกราย หาแนวทางบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ว่า  ช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถดำเนินการจับกุมพนันออนไลน์กว่า 20 รายใหญ่ทั่วประเทศ วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การพนันฯ กระทรวงดีอีเอสตระหนักถึงปัญหาการพนันออนไลน์มีผลกระทบมากมาย ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างความเดือดร้อนแก่คนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ได้หารือกับท่าน ผบ.ตร. (พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา) และ ผอ.ศปอศ.ตร. (พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข) ในการปราบปรามและทำการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุม “เราพยายามบังคับใช้กฎหมายหมายฉบับเพื่อจัดการปัญหานี้ การพนันออนไลน์ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ต้องส่งข้อมูลผ่านมาทางผู้ให้บริการวงจรสื่อสารและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กระทรวงขอความร่วมมือหากพบเว็บการพนันจะสามารถปิดกั้นเว็บนั้นได้เลย จากนี้กระทรวงจะทำงานใกล้ชิดเพื่อส่งรายชื่อเวับที่ผิดกฎหมายให้ไอเอสพีช่วยสกัดกั้น และเมื่อดำเนินการแล้วขอให้ส่งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการกับเว็บไซต์ผิดกฎหมายมาที่กระทรวง ขอให้เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ” รมว.ดีอีเอส กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดำเนินการได้ทันทีเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าผิดกฎหมาย การพนันถ้าเขามาเล่นที่ไหนคนที่เป็นเจ้าของช่องทางก็ถือเป็นเจ้าของสถานที่ที่กระทำความผิด ถ้าท่านไม่ดำเนินการจะถือว่าท่านละเว้นไม่ทำหน้าที่มีความผิดด้วย กระทรวงได้หารือกับกสทช.หากไอเอาพีอำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือจะมีมาตรการช่วยเหลือจากทางกสทช.สนับสนุนไอเอสพีที่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา -สำนักข่าวไทย.

ผอ.รพ.สระบุรี แจงถูกแฮกข้อมูลคนไข้จริง-ไม่มีเรียกค่าไถ่

สำนักข่าวไทย 9 ก.ย. 63 – นพ.อนันต์ กมลเนตร ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวชี้แจงถูกแฮกข้อมูลคนไข้จริง แต่ไม่มีเรียกค่าไถ่ ตามที่เป็นข่าว  นพ.อนันต์ กมลเนตร ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวชี้แจง กรณีที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถึงกรณีที่รพ.สระบุรี โดน Ransomware แฮ็กข้อมูลและเรียกค่าไถ่ 2 แสนบิทคอย.  ว่า เบื้องต้น ยอมรับว่า ระบบคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลสระบุรีขัดข้องจากการโดน Ransomware จริง แต่ในเรื่องของการเรียกค่าไถ่โดยต้องจ่าย 2 แสนบิทคอย เพื่อให้ได้ข้อมูลคืนนั้นไม่เป็นความจริง   และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครติดต่อมาในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด  ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กของรพ.สระบุรี มีการโพสต์ข้อความระบุว่า ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลสระบุรีขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถใช้งานในระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งโรงพยาบาลกำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น จึงขอความกรุณาจากผู้รับบริการทุกท่านที่เข้ามาใช้บริการตรวจรักษาในโรงพยาบาลสระบุรี กรุณานำบัตรแสดงสิทธิการรักษา สำเนาใบส่งตัว บัตรประจำตัวประชาชน บัตรแพ้ยาและใบรายการยาครั้งสุดท้ายที่ได้รับพร้อมนำยาเดิมมาด้วยทุกครั้ง จนกว่ารพ. จะดำเนินการแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์แล้วเสร็จ .-สำนักข่าวไทย

เผยค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยต่ำสุดอันดับ3 ของโลก ขณะที่ความ เร็วครองอันดับหัวแถว

กรุงเทพฯ 9 ก.ย. กสทช.เผยผลทดสอบความเร็ว-ราคาอินเทอร์เน็ตไทยผงาดที่ 1และ2ของอาเซียน ขณะราคาเน็ตบ้านต่ำสุดราคาต่อหน่วยเป็นที่ 3 ของโลก อดีตเลขา กสทช.ชี้โอกาสไทยเร่งปรับโครงสร้างรับเศรษฐกิจดีจิทัล ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การสำรวจของ Speedtest by Ookla เว็บไซต์ที่ทำการวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 (2006) โดยทำการวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตไปมากกว่า 30,000 ล้านครั้งนับแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคนต่อวันนั้น  ล่าสุดเวปไซต์ดังกล่าว ได้เผยแพร่รายงาน ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำเดือน กรกฎาคม 2563 ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตมือถือ และอินเตอร์เน็ตบ้านที่มีความเร็วเป็นอันดับ 59 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (อันดับ 13 ของโลก) โดยมีความเร็วในการใช้งานเฉลี่ย 32.87 Mbps และยังพบด้วยว่า ความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านในไทยนั้น ยังเร็วเป็นอันดับสามของโลกอีกด้วย โดยมีความเร็วเฉลี่ย 171.45 Mbps ขณะที่ The Economist Intelligence Unit  หน่วยงานวิจัยของนิตยสารระดับโลก Economist ที่ร่วมกับ Facebook ได้จัดทำผลการศึกษาการใช้งาน และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปี 2020  ภายใต้ดรรชนีชี้วัดInclusive Internet Index ที่วัดผลของอินเตอร์เน็ต ในสี่ด้านคือการเข้าถึงการใช้งานในด้านโครงสร้างพื้นฐาน(Availability) การแข่งขันและราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากร (Affordability) ปริมาณและความหลากหลายของข้อมูล(Relevancy) และความสามารถและความปลอดภัยที่เอื้อในการใช้งาน Readiness  ซึ่งพบว่าดรรชนี Inclusive Internet Index ของไทยได้คะแนน 74.8 เป็นอันดับที่ 39 ของโลก และเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ในส่วนของอันดับในด้านการเข้าถึงการใช้งานและราคาของการใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นประเทศไทยมีความโดดเป็นอันดับ 2 ของชาติอาเซียนรองจากสิงคโปร์ แต่เป็นอันดับ 1 ในด้านความถูกของราคาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากร ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) มองว่า ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จของบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของความครอบคลุม การเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน และโดยเฉพาะราคาของการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากรที่ประเทศไทยต่ำเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันนั้น ถือเป็นผลงานความสำเร็จของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ที่มีการผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของ Mobile Operator และ Fixed line Operator และโดยเฉพาะการที่กสทช.เดินหน้าเปิดประมูลคลื่นความถี่  5จี ไปเมื่อต้นปี 2563 ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยสามารถเปิดให้บริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคนี้         “ผลสำเร็จของการประมูล 5 จีดังกล่าว ไม่เพียงจะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการพื้นฐานในราคาที่ถูกแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในการเป็นเครื่องมือสกัดกั้น และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างได้ผลอีกด้วย จนทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ในอดีตไทยอาจล้าหลังด้านเทคโนโลยี 3 จีและ 4 จีเพราะเราพัฒนา3 จีได้ช้ากว่าประเทศอื่นนับ 10 ปี 4 จีก็ล่าช้าไปกว่า 5-6 ปีแต่ในส่วนของคลื่น 5 จีนั้นไทยเราสามารถวางโครงสร้างพื้นฐาน58 จีและเปิดให้บริการได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของประเทศที่จะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มและปรับโครงสร้างบริการ OTT 5G ของประเทศ ให้ก้าวทันโลก เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนบนมือถือและสมาร์ทโฟน กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี “เมื่อก่อนรัฐบาลอาจให้ความสำคัญของกระทรวงคมนาคมว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ แต่โลกดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลนั้นกระทรวงดีอีเอสถือเป็นกระทรวงที่น่าจะมีบทบาทสูงสุดในการขับเคลื่อนประเทศเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเงิน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกอย่างจะขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีทั้งสิ้น”นายฐากร กล่าว-สำนักข่าวไทย.

แนะสังคายนากฎหมายพนันให้ชัดเจนช่วยแก้ปัญหาเล่นออนไลน์ได้

กรุงเทพฯ 8 ก.ย. ทนายไอที แนะจัดการพนันออนไลน์มท.ควรประสานสตช. เสนอแก้กฎหมายให้ครอบคลุม  นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายดิจิทัล กล่าวถึงกระแสความนิยมเล่นการพนันออนไลน์ที่กำลังอยู่ในความเป็นห่วงของหลายฝ่ายว่า ในมุมมองของนักกฎหมายกฎหมายเกี่ยวกับการพนันที่ใช้อยู่มีความเก่าและล้าสมัยไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีบังคับใช้มาตั้งแต่พ.ศ.2478 ตัวกฎหมายกำหนดสิ่งที่เป็นการพนันด้วยการเล่นพนันแบยเก่าซึ่งบางอย่างไม่นิยมเล่นแล้ว การกำหนดพื้นที่หรือท้องที่ที่เล่นกำหนดเป็นบ้านหรือโรงเล่นพนันขณะที่ปัจจุบันการพนันออนไลน์เล่นบนเซิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้กฎหมายไทยยังไปกำหนดว่าการพนันแบบไหนอยู่ในบัญชีที่ขออนุญาต การพนันที่กำหนดไว้ยังเป็นน้ำเต้าปูปลาซึ่งแทบจะไม่มีคนเล่นแล้ว  นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การเล่นพนันปัจจุบันเปลี่ยนไปมากนอกจากเล่นบนเซิร์ฟเวอร์ยังใช้เงินเป็นดิจิทัลคอย การจะไปเก็บพยานหลักฐานทั้งพ.ร.บ.การพนันและประมวลกฎหมายสิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติรองรับให้รวบรวมพยานหลักฐานแบบนี้ได้เลยทำให้เจ้าพนักงานหาหลักฐานลำบากต้องเอาพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มาปรับใช้ชั่วคราว การแสวงหาพยานหลักฐานค่อนข้างลำบาก ทางออกคือควรปรับปรุงกฎหมายการพนันเสียใหม่ให้มีบทบัญญัติครอบคลุมการกระทำความผิด พ.ร.บ.การพนันเดิมให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยดูแล ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) น่าจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ กฎหมายการพนันเคยแก้ไขครั้งไปแล้วแต่เป็นการแก้เพียงบางส่วนเมื่อปี 2556 เมื่อถึงวันนี้ก็ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงแล้ว  “ถ้าเราไม่ปรับการพนันออนไลน์จะเป็นช่องว่างทำให้ไม่สามารถจัดการอะไรได้ เมื่อเงินที่ใช้เล่นก็เป็นดิจิทัลการแสวงหาพยานหลักฐานก็ทำไม่ได้ ที่ทำกันอยู่ก็แค่ปิดเว็บหรือไปล่อซื้อจับคนที่ไปเล่น เราถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง และกำหนดให้ครอบคลุมจัดการได้ถึงต้นทางถ้าเราปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนนอกจากจัดการกับปัญหาการพนันออนไลน์ยังจะจัดการกับเงินที่ผ่านธุรกิจนี้ซึ่งออกไปยังธุรกิจสีเทาทั้งการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและการทำผิดกฎหมายต่างๆ “ นายไพบูลย์ กล่าว -สำนักข่าวไทย.

เปลี่ยนการเรียนสู่วิถีชีวิตใหม่ เป็น Active Learning

กรุงเทพฯ 8 ก.ย. -สำนักข่าวไทยมีโอกาสชมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนได้ฝึกฝนจากประสบการณ์จริง หรือ Active Learning ที่โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือสาธิตพีไอเอ็ม ที่นี่ให้เด็กๆ ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ได้เรียนรู้และต่อยอดในสิ่งที่ชอบและสนใจเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า โรงเรียน คือ แหล่งการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน เน้นทักษะการบริหารจัดการ การสื่อสารด้านภาษา และความสามารถในการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในด้านต่างๆ นักเรียนทุกคนจะใช้ควบคู่ไปกับการเรียน ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนที่สำคัญที่ช่วยให้เด็กสนใจและมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนมากขึ้น สามารถโต้ตอบและค้นคว้าข้อมูลได้ในทันที รวมไปถึงการทำการบ้านต่างๆ ที่ทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์และออกแบบชิ้นงานได้อย่างเต็มที่ ตามความถนัดของแต่ละคน อาทิ ทำวิดีโอ, ทำแอนิเมชั่น หรือ มายแมพปิ้งก็ได้เช่นกัน สาธิตพีไอเอ็มสอนเรื่อง หัวใจ ด้วยการให้เด็กๆ ทำความเข้าใจกับอวัยวะสำคัญด้วยการใช้นิ้วผ่าผ่าไอแพด ก่อนผ่าจริงๆ ผ่าแล้วต้องทำวิดีโอสรุปผลการเรียนรู้ หรือนักเรียนคนเก่งที่สรุปบทเรียนออกมาเป็นภาพ mindmap หรือการสรุปบทเรียนออกมาเป็นภาพวาดที่ลากเส้นด้วยปากการอิเล็กทรอนิกส์  การเรียนดนตรีผ่านไอแพดที่ไม่จะเป็นต้องเบ่นดนตรีเป็นทุกคน ขอแค่เข้าใจทฤษฎี และเสียงดนตรี ก็สร้างผลงานได้ เป็นการยืนยันว่าไฮเทคทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน  สาธิตพีไอเอ็ม เป็นโรงเรียนมัธยมที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมในด้านการศึกษา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง  สถานศึกษามีการใช้ เครื่องมือ จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกัน ตลอดจนกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ของนักเรียน อีกทั้งยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นและความสนใจใคร่รู้ในการเรียนอีกด้วย. -สำนักข่าวไทย

กสท ลงทุนเคเบิลใต้น้ำ 5 พันล้านบาทตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาเซียน

กรุงเทพฯ 8 ก.ย. กสทฯเดินหน้าโครงการเคเบิลใต้น้ำหลังครม.อนุมัติ ปรับแผนและขยายระยะเวลาทุ่มลงทุน 5 พันล้านบาท ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของอาเซียน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับแผนและงบประมาณในการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ใน 2 กิจกรรมย่อย จากทั้งหมด 3 กิจกรรมย่อย งบประมาณทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท สำหรับ 2 กิจกรรมย่อยที่ครม.อนุมัติให้ปรับแผนและงบประมาณ ประกอบด้วย กิจกรรมย่อยที่ 1. การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำให้ระบบเคเบิลใต้น้ำระบบเพชรบุรี-ศรีราชา หรือ Phetchaburi-Sriracha (PS) ไม่สามารถใช้งานได้ตามแผนที่ได้ออกแบบไว้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงข่ายด้วยการสร้างเส้นทางใหม่รองรับบ ใช้งบประมาณเพิ่ม 126 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในงบประมาณของโครงการเนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณไม่ถึงกรอบวงเงินที่กำหนดตั้งแต่แรก คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน “แม้ว่าการปรับกรอบวงเงินของกิจกรรมย่อยที่ 1 ในครั้งนี้จะทำให้วงเงินเพิ่ม แต่เนื่องจากกิจกรรมย่อยที่ 2 ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ใช้งบประมาณต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ จึงทำให้วงเงินของโครงการในภาพรวมยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ที่ครม.อนุมัติไว้” พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนกิจกรรมย่อยที่ 3 การร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงจร 200 Gbps มีการลงนามในข้อตกลง Asia Direct Cable ( ADC) ซึ่งเงื่อนไขการดำเนินงานภายหลังลงนามจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 32 เดือน และ กสท โทรคมนาคม จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการตรวจรับอีกประมาณ 2 เดือน ทำให้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการถึงปีงบประมาณ 2565 พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 งบประมาณ 5,000 ล้านบาทประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps งบประมาณ1,000 ล้านบาท ในการขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน(ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps และการลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเซียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกงญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท-สำนักข่าวไทย.

NIA ประกาศผล 6 รางวัลสตาร์ทอัพแห่งปี

NIA ประกาศผลรางวัล 6 สตาร์ทอัพแห่งปี ยกระดับระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจยุคดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA กระทรวงการอุกดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงานStartup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 โชว์ผลงานนวัตกรรมและความก้าวหน้าสตาร์ทอัพไทย พร้อมประกาศ 6 รางวัลสตาร์ทอัพแห่งปี โดยผู้ที่ได้รับรางวัลประเภท Startup of the Year ได้แก่ Ricult สตาร์ทอัพสาขาธุรกิจเป้าหมาย ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สร้างความเปลี่ยนแปลงใน อุตสาหกรรม  รางวัลประเภท Global Tech Startup of the Year ได้แก่ SYNQA สตาร์ทอัพในสาขาธุรกิจเป้าหมาย ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมในวงกว้าง   รางวัลประเภท Evangelist of the Year ได้แก่ นายภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ และ น.ส.อรนุช เลิศสุวรรณกิจ บุคคลต้นแบบที่มีศักยภาพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ สามารถยกระดับการเติบโตระบบนิเวศของสตาร์ทอัพของประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ    รางวัลประเภท Investor of the Year ได้แก่ BeaconVenture บริษัทร่วมลงทุนที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ    รางวัลประเภท Best Brotherhood of the Year ได้แก่ ThaiUnion องค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ มีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาตอิ กล่าวว่า รางวัล Prime Minister Award เป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพของประเทศ ซ่ฃทั้ฝทั้งหมด 6 รางวัล มีส่วนสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าให้สตาร์ทอัพไทย มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐได้อย่างมาก สำหรับรางวัล Prime Minister Award: Innovation for Crisis มีทั้งหมด 9 รางวัล ดังนี้ รางวัลประเภทหน่วยงานภาครัฐได้แก่  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  รางวัลประเภทหน่วยงานภาคเอกชน  ได้แก่ Thailand COVID19 Digital Group ThaiSafe และ หมอชนะ  รางวัลประเภทบุคคลทั่วไป  ได้แก่ นายภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแล็บแพนด้า นายสมโภชน์ อาหุนัยและนายพณชิต กิตติปัญญางาม .-สำนักข่าวไทย

1 30 31 32 33 34 51
...