กรุงเทพฯ 18 ส.ค. ภาครัฐ เอกชน จัดงาน BIDC แบบออนไลน์ หนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์
นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า เวที BIDC เป็นงานประจำปีของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ เป็นเวทีนำเสนอผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดเชิงธุรกิจในอนาคตรวม 23 รางวัลจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรมฯ โดย หวังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จในอนาคต ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้โดยหวังว่าทุกความร่วมมือจะเป็นจิ๊กซอร์ในการสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยให้มีความเข้มแข็ง เป็นฟันเฟื่องของการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทำให้รูปแบบการจัดการในปีนี้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จึงเป็นที่มาในแนวคิด “VR BIDC 2020” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและการเปลี่ยนแปลงในยุควิถีความปกติใหม่ หรือ New Normal โดยกิจกรรมสำคัญที่เคยจัดขึ้นในรูปแบบออฟไลน์เปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการแบบ Virtual Exhibition โดยผ่านแพลตฟอร์ม “Mozilla Hub” ที่ทุกท่านสามารถสแกน QR code เรียบร้อยแล้วเข้าไปร่วมชมผลงานของบริษัท คนไทยทั้งหมดที่มาจัดแสดงได้เสมือนไปชมของจริง การจัด Business Matching เดิมเรา ต้องเชิญแขกจากประเทศ มาร่วมจับคู่เจรจาที่จัดขึ้นในประเทศไทย แต่ในปีนี้รูปแบบการจับคู่เจรจาออนไลน์ (match online) ด้วยแพลตฟอร์ม Deal Room การจัดสัมมนาด้วยระบบ Webinar สนับสนุนโดยสำนัก งานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB โดยได้เชิญวิทยากรระดับโลกในสายงานดิจิทัล คอนเทนต์ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ เทคนิค และ การปรับเปลี่ยนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยจัดขึ้นระหว่างในวันที่ 18-20 ส.ค. 2563 รายละเอียดตารางสัมมนาฯ เข้าไปที่ เฟสบุ๊คเพจ Bangkok International Digital Content Festival
นางหริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการระดับประเทศ ทีเส็บได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้นำ เครื่องมือสำคัญ “Virtual Meeting Space” สนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการจัดงาน รวมถึงการเพิ่มทักษะความรู้ในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตไวรัสระบาด ทีเส็บได้พัฒนาและจัดรูปแบบออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. Webinar หรือ การประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ 2. O2O (Offline to Online) หรือการจัดงานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และ 3. E-Learning Platform หรือศูนย์การเรียนรู้คอร์สฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ ไมซ์ เพื่อเพิ่มทักษะและทบทวนความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ในช่วงที่งานได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ทีเส็บมีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนและเอื้ออำนวยคณะผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์สามารถเข้าฟังและรับความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล คอนเทนต์ได้มากขึ้นด้วยระบบที่มีประสิทธิภาพของทีเส็บ
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนัก งานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ประกอบด้วย ธุรกิจด้านเกม แอนิเมชัน คาร์แรคเตอร์ไทย อี-เลิร์นนิง VR&CG และVFX กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามพัฒนาการของเทคโนโลยีโลกและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ ประชาชนใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมอี-เลิร์นนิงได้รับอานิสงค์ที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มนี้มีการขยายตัว เนื่องจากทุกภาคส่วนรวมไปถึงประชาชนมีการปรับตัวและใช้การเรียนการสอนรวมไปถึงการทำงานผ่านรูปแบบ Online Live Streaming ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้แก่อุตสาหกรรม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาโครงการ Bangkok International Digital Content Festival มีผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์จากต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 200 บริษัท และผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คน โดยสร้างมูลค่าการเจรจาธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยมากกว่า 2 พันล้านบาท
งาน Bangkok International Digital Content Festival หรือ BIDC เป็นงานมหกรรมของอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือของภาคเอกชน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (TCEB) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ (DEPA) และภาคเอกชนทั้ง 5 สมาคมของอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ประกอบด้วย สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) ซึ่งที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยสู่เวทีระดับสากล นับเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมฯและภาครัฐ ที่ได้ร่วมกันผลักดัน ส่งเสริม และบูรณาการ จนโครงการนี้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 23 สิงหาคม 2563 – สำนักข่าวไทย.