ทีโอทีจับมือกนอ.วางโครงสร้างสื่อสารความเร็วสูง14 นิคม1 ท่าเรือ
กรุงเทพฯ 15 ธ.ค. ทีโอที จับมือ กนอ.วางโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารความเร็วสูง 14 นิคมอุตสาหกรรม 1 ท่าเรือ คาดปี 2565 ชัดเจน นางสาวจันทนา เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ บริษัท ทีโอทีจำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทีโอทีได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการวางระบบสื่อสารความเร็วสูง (Fiber to The Factory) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการให้บริการโทรคมนาคมภายในนิคมอุตสาหกรรมของรัฐจำนวน 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด 1 แห่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้เป็นศูนย์กลางของนิคมอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล สามารถรองรับภารกิจ ด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ และนักลงทุน ด้วยโครงการวางระบบสื่อสารความเร็วสูงด้วย Fiber to The Factory แนวทางในการทำงานร่วมกันนั้น ท๊โอที จะเป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบสายสัญญาณโทรคมนาคมภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด จากเดิมที่แต่ละกิจการในนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้เดินสายเองจากผู้ให้บริการหลากหลาย ซึ่งเมื่อทีโอทีดำเนินการท่อร้อยสายเสร็จสิ้นก็จะเป็นโอกาสอันดีให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาเช่าใช้ท่อร้อยสายของทีโอทีเพื่อให้บริการกับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมได้ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และประหยัดเงินลงทุน อีกทั้งยังเป็นการปรับทัศนียภาพภายในนิคมอุตสาหกรรมให้สวยงาม พร้อมต่อยอดไปสู่การวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในอนาคตด้วย ส่วนเรื่องเงินลงทุน หรือรูปแบบทางธุรกิจกับ กนอ. จะเป็นแนวทางใดนั้น ต้องศึกษาหาข้อสรุปร่วมกันก่อน จึงจะสามารถคาดการณ์การลงทุนร่วมกันได้ ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจนด้านส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นเครื่องมือในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 กนอ.มีแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อรองรับเทคโนโลยี5G โดยจะนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 1 แห่ง กนอ.ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสาร โดยการ นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ IoT มาใช้ในการประกอบกิจการ และช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งสามารถให้บริการระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและนักลงทุน ทั้งนี้เอ็มโอยู ดังกล่าว มีระยะเวลา 2 ปี โดยในปีแรกคือปี 2564 ทีโอที และ กนอ.จะลงพื้นที่และศึกษาหาข้อมูลว่าต้องลงทุนดำเนินการท่อร้อยสายมากน้อยเพียงใด ตลอดจนศึกษารูปแบบการทำธุรกิจร่วมกันว่าจะเป็นรูปแบบใดไดได้บ้าง เช่น การตั้งบริษัทลูกร่วมกัน เป็นต้น เพื่อให้โครงการดังกล่าวมีรายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรับความเสี่ยงร่วมกันในการทำการตลาดและหาลูกค้ามาใช้งานด้วย จากนั้นในปี 2565 ทั้ง 2หน่วยงานจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับ 14 อุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง มีนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการแล้ว 13 แห่ง จำนวนผู้ประกอบกิจการและโรงงาน ทั้งสิ้น 1,746 ราย และ อีก 1 แห่ง ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา อยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ส่วนท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีจำนวนผู้ประกอบกิจการและโรงงานทั้งสิ้น 22 ราย -สำนักข่าวไทย.