กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. กทปส. เผยงบฯ วิจัย ปี 64 แตะ 1.1 พันล้านบาท ลุยงานวิจัย 5G เต็มสูบ เล็งผลักดัน “ดิจิทัลอีโคซิสเต็ม – วิทยุดิจิทัล” สร้างประโยชน์สาธารณะ
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า กรอบวงเงินการจัดสรรเงินจากกองทุน ประจำปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,100 ล้านบาท มีเงื่อนไขการอนุมัติงบฯ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G โครงข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง สู่การพัฒนางานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนใน 3 กลุ่มสำคัญ ดังนี้ ‘กิจการโทรคมนาคม’ การสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ พร้อมปั้นบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน 5G ‘กิจการกระจายเสียง/โทรทัศน์’ การพัฒนาระบบวิทยุดิจิทัล และเทคโนโลยี 4K 8K ในกิจการโทรทัศน์ และ ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการสื่อสารต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินดังกล่าวที่ กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรนั้น แบ่งออกเป็นประเภททุนต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด คือ ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงิน กทปส. ภายใต้วงเงิน 400 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 5 เมษายน 2564 ทุนประเภทที่ 2 ทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ประกาศกำหนด โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ ทุนตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน และ ทุนต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมวงเงิน 700 ล้านบาท
ในปี 2563 กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรงบฯ 2,900 ล้านบาท ผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญดังนี้ 1. ด้านบริการเพื่อสังคม (USO) การดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง 2. ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การศึกษาวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร 3. ด้านพัฒนาศักยภาพบุคลากร (HRD) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 4. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) ครอบคลุมด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาทิ ‘มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์’ (μTherm-FaceSense) นวัตกรรมตรวจวัดอุณหภูมิสัญชาติไทย ที่แม่นยำเทียบเท่าต่างชาติ ‘ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีวีอาร์’ (VR) การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรเทคโนโลยีเสมือน หนุนปั้นบุคลากรรับเทรนด์ดิจิทัล โครงการพัฒนา ‘คลาวด์ แอนด์ เอดจ์ คอมพิวติ้ง’ (Cloud & Edge Computing) สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล ฯลฯ-สำนักข่าวไทย.