กรุงเทพฯ 11 ส.ค.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ค.65 ทิศทางขาขึ้นตามแนวทางผ่อนคลายภาครัฐ แต่ยังกังวลปัจจัยหลายด้านกระทบต้นทุนการผลิต แนะรัฐดูแลต้นทุนผลิต พร้อมมองดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสขึ้นอีก 2 ครั้งเพื่อดูแลเงินเฟ้อสูงส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีอยู่ที่ 1.25% ได้แน่
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในกรกฎาคม 2565 โดยสอดคล้องกับความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในกรกฎาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน อยู่ที่ระดับ 37.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค เนื่องจากตัวชี้วัดในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า การค้าชายแดน และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด
ทั้งนี้ ภาคเอกชน เสนอให้รัฐ ดูแลเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้นจากราคาพลังงาน มีแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้รับความปลอดภัย และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงฝีดาษลิงที่จะกระทบกับการใช้ชีวิตและธุรกิจ โดยผู้บริโภค และภาคธุรกิจ กลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 ภาคการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะโตในกรอบ 3-3.5% และอัตราเงินเฟ้อ ที่ 6-6.5% และเห็นว่ายังไม่มีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ แม้จะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมุมมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว คาดว่าปีนี้ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน และพฤศจิกายน ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นเป็น 1.25% ในปีนี้ได้
“หอการค้าไทยได้ประเมินผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ในครั้งแรกนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประมาณ 0.005% เท่านั้น เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จนถึงสิ้นปี จึงต้องติดตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้ ซึ่งหากปรับขึ้นอีก 2 ครั้งจริง จะกระทบเศรษฐกิจเพียง 0.1-0.2% และยังเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ย จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่การบั่นทอนกำลังซื้อ และไม่กระทบต้นทุนการผลิตมากนัก”รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย