กรุงเทพฯ 7 ก.ค.-GPSC-SC Asset ลุยศึกษานวัตกรรมพลังงานสะอาด ป้อนตลาดอสังหาฯ ด้าน กฟผ.-สวทช. จับตัวเปิดแล็บทดสอบ EV Charger 15 ก.ค. หนุน EV Ecosystem แบบครบวงจร
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน และนวัตกรรมด้านพลังงาน ในพื้นที่แผนการพัฒนาของ SC Asset ทั้งในส่วนของบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน โดยมีแผนการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย และระบบบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้ในพื้นที่แผนการพัฒนา เพื่อมุ่งบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
นางรสยา กล่าวเสริมว่า แผนการดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการศึกษาที่จะครอบคลุมถึงการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ ความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค ด้านตลาด โครงสร้างราคา เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนารูปแบบธุรกิจ รูปแบบความร่วมมือ โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ด้าน นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านกิจการพิเศษ และ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงตามมาตรฐาน IEC 61851 ณ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สำหรับการร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดัน EV Ecosystem ในประเทศไทย โดยทั้งสองหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าหมายเดียวกันได้ร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการสร้างบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของระบบชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ ทั้งบนถนนและแม่น้ำให้ได้ระดับมาตรฐานสากล สถานีชาร์จจัดเป็นองค์ประกอบหลักของ EV Ecosystem นอกจากต้องมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “มาตรฐาน” ของสถานีชาร์จที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
“กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับ สวทช. สร้างความมั่นใจ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าในประเทศ โดยการพัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้า ที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ณ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จากเดิมที่สามารถทดสอบได้เพียง 60 กิโลวัตต์ ขยายการทดสอบเพิ่มเป็น 150 กิโลวัตต์ เพื่อให้ผู้สนใจผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าสามารถนำมาทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้การทดสอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย โดยจะเปิดให้บริการทดสอบ 15 กรกฎาคม 2565 นี้ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะมีประโยชน์ในวงกว้างต่อประเทศชาติ และเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายวฤต กล่าว.-สำนักข่าวไทย