กรุงเทพฯ 2 มิ.ย.-สนพ.เผยยอดการใช้พลังงานเขิงพาณิชย์ไทยช่วงไตรมาสแรกปี 65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 หลังปัญหาติดเชื้อโควิดในประเทศเบาลง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่จับตาผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบทุกด้านทั่วโลก พร้อมนัดหารือทบทวนราคาค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินใหม่ ชี้แม้ราคาพลังงานโลกเพิ่ม สนพ.เตรียมแผนกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ EV ให้มากขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 จากการใช้ LNG ที่ลดลงในภาคการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.64 ได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลงเนื่องจากภาวการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงและราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเขีย – ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรที่มีแนวโน้มยืดเยื้อการคาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้น ปี 65 อยู่ที่ระดับ 2.034 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 64 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเขีย – ยูเครน โดยการใช้น้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 9.5 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อแก้ปัญหาราคาก๊ซธรรมชาติเหลว (LNG) จึงมีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลได้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 65 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
นอกจากนี้ เท่าที่ สนพ.มองและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปี 65 น่าจะอยู่ที่ 110-115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แม้ผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนจะยืดเยื้อก็ตาม แต่หลายประเทศมีการปรับตัวหันไปใช้และหาน้ำมันดิบแหล่งและพลังงานอื่นๆทดแทนกัน ขณะเดียวกัน สนพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูและพิจารณาในส่วนค่าการกลั่นน้ำมันของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ตามมาตรา 7 ที่มีการคำนวณค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 5 บาท โดยเห็นว่าอัตราดังกล่าวสูงเกินไป ดังนั้น สนพ.กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาความเหมาะสมค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินใหม่ โดยเห็นว่าราคาเหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร แต่จะเป็นราคานี้หรือไม่ภายในเดือนมิย.นี้จะทราบ และคงจะดูเพิ่มเติมว่ากระทรวงพาณิชย์จะสามารถดึงน้ำมันทุกชนิดให้อยู่ในบัญชีเป็นสินค้าควบคุมด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ ในส่วนของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ (NGV ได้มีมาตรการตรึงราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึง 15 มิ.ย.65) รวมถึงมีมาตรการ “เอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน” คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ตามปริมาณน้ำฝนและ น้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
พร้อมกันนี้ นายวัฒนพงษ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ยังได้รายงานผลการดำเนินงานเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV ชาติ) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ
เป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเม.ย.65 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ (1) มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมบอร์ด EV ชาติ เห็นชอบการขยายอัตราค่ไฟฟ้าถึงปี 68 รวมถึงด้านสิทธิและประโยชน์สำหรับกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และได้มอบหมาย BOI พิจารณา ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนตีไฟฟ้า รวมถึงมาตรการและวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด คอนโดมิเนียม มาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลินยนต์ไฟฟ้า ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ประชุมมอบหมายให้ BOI และกรมสรรพสามิตพิจารณา
โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกปี 65 ยอดจองรถ EV มากถึงกว่า 3,000 คัน.-สำนักข่าวไทย