กรุงเทพฯ 24 พ.ค.- หมอล็อตเผย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเร่งประสานกองโรคติดต่อ นำโดยกรมควบคุมโรค เพื่อร่วมกันสำรวจและเฝ้าระวังโรคในคนและลิง หลังจากพบผู้ติดเชื้อมาลาเรียชนิด “โนวไซ” ติดต่อจากลิงสู่คน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ รวมทั้งออกมาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยทั้งของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว
นายสัตวแพทยภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวถึงการพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) ซึ่งติดต่อจากลิงสู่คน โดยยุงก้นปล่องเพศเมียกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า ยุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้
กรมอุทยานฯ ได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้มาลาเรียสำหรับเจ้าหน้าที่ดังนี้
1. ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตระกูลลิงเข้าหรือออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพื่อควบคุมไม่ให้มีการกระจายของโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากโรคไข้มาลาเรีย มีสัตว์ป่าตระกูลลิงเป็นสัตว์อมโรคคือ มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการป่วยหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย และมียุงก้นปล่องเป็นแมลงพาหะนำโรคคนจะสามารถได้รับเชื้อนี้จากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด
2. เฝ้าระวังการป่วยหรือตายผิดปกติในสัตว์ตระกูลลิงในบริเวณอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และบริเวณใกล้เคียง หากพบลิงตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อทำการผ่าชันสูตรและเก็บตัวอย่างส่งตรวจต่อไป
3. ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวให้อาหารแก่ลิง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพื่อปรับพฤติกรรมของลิงมิให้มีความใกล้ชิดกับคน
4. ติดมุ้งลวดบริเวณบ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่ บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน รวมถึงห้องต่างๆภายในอาคาร เช่น ห้องครัว ห้องประชุม เป็นต้น
5. ให้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพและอนามัยของเจ้าหน้าที่ กรณีเกิดอาการเจ็บป่วยต้องสงสัย เช่น ปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่นเมื่อยตัว เป็นต้น ให้หัวหน้าอุทยานฯ หรือหัวหน้าเขตฯ ประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องโดยด่วน
6. ใช้ยาทากันยุง ยาจุดไล่ยุง และใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิด
7. ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประสานงานหรือจัดหาผู้แทนในการประสานงานข้อมูลเรื่องการระบาดของโรคไข้มาลาเรียที่พบในคนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้มีข้อมูลในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ และสังเกตอาการของตนเองหลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
8. จัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ และสุขอนามัยที่ดีภายในหน่วยงาน เช่น
– การฉีดพ่นยากำจัดยุงบริเวณโดยรอบพื้นที่อาศัยของคน ภายในเขตเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นประจำ
– ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของยุงก้นปล่อง
สำหรับนักท่องเที่ยวมีข้อปฏิบัติดังนี้
1. เข้าพักในบ้านพักที่มีมุ้งลวดซึ่งบริการในพื้นที่ หรือนอนในมุ้ง
2. หากต้องการค้างคืนในป่าให้ใช้มุ้งชุบน้ำยาหรือเต็นท์ที่มีมุ้งเท่านั้น
3. ใช้ยาทากันยุง ยาจุดไล่ยุง และใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิด
4. งดให้อาหารแก่ลิงภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อปรับพฤติกรรมของลิงมิให้มีความใกล้ชิดกับคน
5. ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน หากมีอาการ ปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่น เมื่อยตัว และเคยไปพักค้างคืนในป่า หรือสถานที่ที่มีโรคไข้มาลาเรียระบาด ควรรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมทั้งแจ้งประวัติการค้างคืนในป่าให้แพทย์ทราบด้วย
ทั้งนี้กรมอุทยานฯ จะเร่งประสานกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคเพื่อร่วมกันสำรวจและเฝ้าระวังโรคในคนและลิงโดยเร็ว
จากข้อมูลของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคระบุว่า ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทยได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงี๊ยะ โดยพบรายงานผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอดแต่ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง สงขลา และตราด.-สำนักข่าวไทย