กรุงเทพฯ 6 เม.ย.-อพท. จับมือองค์การยูเนสโก พัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนา เปิดอบรมไกด์ท้องถิ่นเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล สำหรับแหล่งมรดกโลก” เพิ่มดีกรีองค์ความรู้มักคุเทศก์ ท้องถิ่นใช้เครื่องมือดิจิทัล เข้าถึงนักท่องเที่ยวระดับมาตรฐานสากล
นายชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้ร่วมกับ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้จัดกิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์เชิงปฏิบัติการร่วม เรื่อง“การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัลสำหรับแหล่งมรดกโลก” (Workshop on Digital Storytelling For World Heritage Sites) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ อพท. ร่วมกับองค์การยูเนสโก เพื่อเปิดโอกาสเพิ่มความรู้ ในการใช้สื่อสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือในถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับมรดกโลกและชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวที่ และสามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับเส้นทางมรดกโลกทางพระพุทธศาสนาของชุมชนด้วยตนเอง โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งมรดกโลกเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้บริการการท่องเที่ยวในระดับสากล
ทั้งนี้ ยังได้ถ่ายทอดถึงการบริหารจัดที่เหมาะสมสำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา ที่คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและสักการะ โดย อพท.สะท้อนให้เห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนามีความสำคัญ และแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการโดยทั่วไป ที่เน้นเรื่องการต่อยอดคุณธรรม และยกระดับจิตใจ ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม ที่เน้นการสร้างคุณค่าในเชิงพระพุทธศาสนาให้กับนักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยการนำเสนอความเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยว กับการส่งเสริมด้านคุณธรรมของศาสนาพุทธ กรณีในกรณี แหล่งท่องเที่ยวถ้ำนาคา ที่อยู่ในกระแสมีจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นสักการะเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่
ในการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กรมศิลปากร บรรยายในหัวข้อ “หามุมมองใหม่ ๆ ในการเล่าทุกเรื่องประวัติศาสตร์” โดยชี้แนะว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ และเอกสารประวัติศาสตร์ จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากการบอกเล่าเรื่องราวทั่วไป เพราะมีมุมมองเกร็ดความรู้มุขปาถะที่น่าจดจำ และแสดงความเป็นเอกลักษณ์ตัวตนของบุคคลได้ดีกว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมไทยต่อไปได้.-สำนักข่าวไทย