กรุงเทพฯ 16 ก.พ. – ครม. ออกมาตรการหนุนใช้รถยนต์-รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ย้ำความเป็น Detroit of Asia ช่วง 2 ปีแรก ยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งคัน หวังอีก 8 ปีข้างหน้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ของไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภท ผ่านมาตรการ ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี แบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 65-68 ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 65–66) ด้วยการสร้างแรงจูงใจการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศโดยเร็ว จึงให้ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และการผลิตรถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตในประเทศ (CKD) ได้รับการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต การให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อเพิ่มแรงซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย
ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67-68) มาตรการสนับสนุนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผลิตในประเทศเป็นหลัก กลับมาเก็บอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไข หวังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
นอกจากนี้ ยังยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วงปี 65–68 โดยให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่มาเป็นต้นทุนการผลิตเกิดขึ้นในประเทศ เพื่อคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน การผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก
มาตรการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ
1.รถยนต์ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท (ผลิตและประกอบในประเทศ)
- ลดอากรขาเข้า สูงสุด 40% (ปี 2565-2566 )
- ลดภาษีสรรพสามิต 8% เป็น 2% (ปี 2565-2566 )
- เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับแบตเตอรี่เกิน 30 kWh และเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาท สำหรับแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30kWh
ราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท - ลดอากรขาเข้า สูงสุด 20% (ปี 2565-2566 )
- ลดภาษีสรรพสามิต 8% เป็น 2% (ปี 2565-2566 )
2.รถกระบะ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% (ปี 2565-2566 )
- เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท แบตเตอรี่ 30 kWh เฉพาะผลิตในประเทศ
3.รถจักรยานยนต์ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท
- เงินอุดหนุน 18,000 บาท ทั้งนำเข้าทั้งคัน (CBU) และที่ผลิตในประเทศ (CKD)
อย่างไรก็ตาม รถกระบะ ต้องผลิตในประเทศเท่านั้น จึงได้สิทธินี้ รถยนต์และรถจักรยานยนต์นำเข้าได้ แต่ปี 2567 หรือปีที่ 3 ต้องผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า ช่วงปี 65-66 หากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยถึงปี 68 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) และการผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด/ ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV (ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่) รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย