กาญจนบุรี 3 ก.พ. – กรมอุทยานฯ เร่งติดตามช้างป่าถูกรถชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พร้อมใช้มาตรการเข้ม คาดโทษผู้ที่ขับขี่รถเร็ว ส่วนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เจ้าหน้าที่ยังคงติดตาม “พลายเบี่ยงเล็ก” เพื่อรักษาแผลบาดเจ็บจากการต่อสู้ในฤดูผสมพันธุ์
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระติดตามช้างป่าที่คาดว่าบาดเจ็บ เนื่องจากถูกรถชน ล่าสุดพบร่องรอยการเดินลากขาซ้ายหลัง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงช้างตัวนี้ได้เพราะช้างรวมกลุ่มอยู่ 3 ตัว เจ้าหน้าที่อาจได้รับอันตราย ขณะนี้คอยเฝ้าระวังและประเมินอาการว่า บาดเจ็บมากน้อยเพียงใดเพื่อให้สัตวแพทย์รักษาต่อไป
จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุรถตู้ชนช้างป่าที่ถนนสาย 3199 บ้านวังจาน หมู่ที่8 ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 23.40.น. คนขับรถชื่อนายสุทธิพจน์ วังกุ่ม อาชีพขับรถตู้เอกชนขับรถชนช้างป่า โดยไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่รถตู้ได้รับความเสียหายตอนช่วงหน้ารถ ขณะนี้เจ้าของรถเคลื่อนย้ายรถดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปแล้ว
ทั้งนี้ เส้นทางที่เกิดเหตุเป็นเส้นทางตรง ผู้ขับรถยนต์ส่วนใหญ่มักขับมาด้วยความเร็วมาก ทั้งที่มีป้ายเตือนให้ระวังช้างป่า ที่ผ่านมามาตรการของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ คือ จัดชุดพิทักษ์ป่าเฝ้าระวังช้างป่าอยู่ในเส้นทางนี้อยู่ จึงสั่งการให้ใช้มาตรการเพิ่มเติม คือ เพิ่มป้ายเตือนระวังช้างเพิ่มเติมประมาณ 20 ป้ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีข้อความว่า “ขับรถความเร็วไม่เกิน60 กม./ชม. ขับช้า ๆ ระวังช้างป่า ชนช้างป่ามีโทษจำคุก และปรับ” เพิ่มเติมจากป้ายกรมทางหลวง และเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างตลอดเส้นทางที่มีความเสี่ยง ระยะทางประมาณ 15 กม. โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. อบจ. หรือกรมทางหลวง
หากยังมีบุคคลใดยังขับรถเร็วในเส้นทางดังกล่าว ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งมีป้ายเตือน แต่ยังขับรถความเร็วเกินกว่าที่กำหนดแล้วไปชนช้างป่า ถือว่ามีเจตนาเล็งเห็นผลที่จะทำอันตรายช้างป่า มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ฐาน กระทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่สัตว์ป่าคุ้มครอง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และยังต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่ว่ากระทำด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ในการทำอันตรายช้างป่าให้แก่กรมอุทยานฯ ตามมาตรา 87 ประกอบมาตรา 88 พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เป็นจำนวนค่าเสียหายที่ทำการรักษาช้างป่า หรือในกรณีที่ช้างป่าตายต้องชดใช้มูลค่าของช้างป่าที่ตายราคาหลายแสนบาทอีกด้วย
ส่วนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เจ้าหน้าที่ยังคงติดตาม “พลายเบี่ยงเล็ก” ที่บาดเจ็บที่ก้น โดยนายสว่าง กองอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า มีช้างป่าตัวหนึ่งบาดเจ็บเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 64 จึงเข้าตรวจสอบพบว่า เป็นเพศผู้ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พลายเบี่ยงเล็ก” มีบาดแผลที่โคนหาง
ทั้งนี้ “พลายเบี่ยงเล็ก” มักปรากฏตัวที่ถนน 3077 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จากนั้นเดินเข้าป่าลึกไป สัตวแพทย์จึงประเมินหาพื้นที่และวางแผนการรักษา เบื้องต้นนำสมุนไพรปางหละและยาปฏิชีวนะยัดใส่ในกล้วยวางบริเวณที่ช้างตัวดังกล่าวปรากฏตัวบ่อยๆ เมื่อตรวจสอบพบว่า ช้างได้รับยาทั้งหมด ต่อมาพบกองมูลของช้างบริเวณ ม.15 บ้านวังน้ำขุ่น ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรีซึ่งมีหนองด้วย แต่ไม่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง จึงให้เจ้าหน้าที่ติดตามเพื่อนำนายัดกล้วยให้เพิ่มเติม จนวันที่ 4 ม.ค. เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) พบตัวอยู่บนถนน 3077 จุดเดิมซึ่งแผลที่หางแห้งและไม่มีหนองแล้ว
จนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค. เจ้าหน้าที่ชุดติดตามพบว่าช้างมีอาการน้ำหนองไหลบริเวณก้นจึงได้ประสานทีมสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าเข้าร่วมรักษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. โดยเดินเข้าไปจากหลักกิโลเมตรที่ 14 ประมาณ 500 เมตร เมื่อวางยาซึมแล้วตรวจสอบแผลบริเวณหางพบว่า หางขาดและแผลที่มีลักษณะเป็นซอก ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำๆ ในบริเวณนี้ได้ รวมทั้งยืนยันได้ว่า บาดแผลเกิดจากการต่อสู้กันตามธรรมชาติของช้างป่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ไม่ใช่การกระทำของมนุษย์
ทั้งนี้ ทีมสัตว์แพทย์ได้ดำเนินการให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดปวดลดอักเสบ ธาตุเหล็ก วิตามินบำรุง และทำการล้างแผลบริเวณที่จะเกิดการติดเชื้อ พร้อมทั้งพ่นยาปฏิชีวนะ ผงกันหนอง และครีมรักษาแผล แล้วให้เจ้าหน้าที่ชุดติดตามประเมินอาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ติดตามระยะห่าง 100 เมตรเนื่องจาก “พลายเบี่ยงเล็ก” ไม่ยอมให้เข้าใกล้ ล่าสุดจึงติดตั้งกล้อง NCAPS ดักถ่ายภาพเพื่อช่วยให้ทราบตำแหน่งของช้างและติดตามอาการได้.-สำนักข่าวไทย