กาญจนบุรี 2 ก.พ.- กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาคนล่าเสือ-เสือกัดคนในป่าตะวันตก เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย โดยต้นเหตุสำคัญคือ การนำปศุสัตว์เข้าไปเลี้ยงในเขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นพื้นที่หากินของสัตว์นักล่าอย่างเสือโคร่ง รวมทั้งยังอาจทำให้โรคจากปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงแพร่สู่สัตว์ป่าได้ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศรุนแรงอย่างรุนแรง
นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งกำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านล่าเสือโคร่ง และเสือโคร่งกัดชาวบ้านดังที่เกิดในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี
ทั้งนี้ เสือโคร่งดังกล่าวอาศัยบริเวณป่ารอยต่อชายแดนไทย-เมียนมา โดยเสือเป็น “สัตว์ผู้ล่า” ซึ่งมีพื้นที่หากินกว้าง จึงข้ามพรมแดนไปมาเพื่อหากิน เมื่อได้กลิ่นสัตว์อื่นจะตามกลิ่นเพื่อล่าเป็นอาหาร จึงต้องจัดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์โดยด่วน
นายดำรัส กล่าวต่อว่า ชาวบ้านปิล็อกคี่ได้รับการผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า หากประกอบอาชีพเลี้ยงวัว-ควาย ต้องเลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ที่อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน จะเลี้ยงปล่อยไม่ได้
จากการสืบสวนเชิงลึกพบข้อมูลว่า วัว-ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นของนายทุนซึ่งจ่ายค่าจ้างให้ โดยปล่อยให้หากินเองในป่า จึงเป็นการกระตุ้นให้เสือออกมากินเหยื่อและทำร้ายชาวบ้านที่ไปดูแลฝูงวัว-ควายได้ ขณะที่ชาวบ้านไม่พอใจที่เสือกินวัว-ควายจึงยิงเสือดังเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การนำปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงเข้าไปในป่ายังอาจทำให้โรคระบาดแพร่ไปสู่สัตว์ป่าได้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ร่วมประชุมแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตะวันตกตอนใต้ ร่วมกับหลายหน่วยงานซึ่งเห็นร่วมกันว่า ต้องสำรวจประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนใต้และกำหนดแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
Mr. Tim Redford มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย รายงานผลการดำเนินโครงการประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ของประเทศไทย (WEFCOM) ซึ่งยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านปิล็อกคี่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ.) จะติดตั้งกล้องดักถ่ายทั้งในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเขตป่ารอยต่อไทย-เมียนมา เพื่อถ่ายภาพเสือโคร่งและเหยื่อ แล้วนำข้อมูลมาวางแผนในการผลักดันเสือโคร่งเข้าป่าลึก รวมทั้งวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในเขตป่ารอยต่อชายแดนไทยและเมียนมาด้วย
นางสาวสุปราณี กำปงชัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แผนงานประเทศไทย ระบุว่า โครงการสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาของ IUCN ไม่สามารถดำเนินการในฝั่งเมียนมา จึงจะนำงบประมาณมาดำเนินโครงการบริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและอุทยานแห่งชาติลำคลองงูใน พ.ศ. 2565 นอกจากนั้นยังมีแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-8 ในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในระยะยาว 10 ปี
นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดแนวทางดำเนินการ ดังนี้
– ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ระยะเวลา 10 ปี โดยเสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาต่อไป
– เร่งสำรวจข้อมูลวัว-ควาย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในโซนป่าตะวันตก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงวัว-ควายในป่าอนุรักษ์
– เมื่อได้ข้อมูล วัว ควาย ในเขตอุทยานแห่งชาติและในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว จะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล โดยกรณีที่พบว่า มีกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ที่จ้างให้ราษฎรในพื้นที่มาเลี้ยงวัว-ควาย ในป่าอนุรักษ์ ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นราษฎรในพื้นที่เป็นเจ้าของเลี้ยงวัว-ควายในป่าตามวิถีชีวิตของชุมชนในป่า ให้หามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับชุมชนต่อไป
– ออกประกาศห้ามเลี้ยงวัว-ควายในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ทั้งหมด เว้นแต่ในพื้นที่ผ่อนปรน ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 48 วรรคสอง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับหรือ มีความผิดตามมาตรา 55 (6) ประกอบมาตรา 102 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย