กรุงเทพฯ 11 ม.ค.-สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯคาดส่งออกปี 2565 จะเติบโตได้ร้อยละ 5-8 แม้เผชิญสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการจ้างงานที่ปรับขึ้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยตลอดปี 2564 คาดการณ์จะเติบโตถึงร้อยละ 15-16 และคาดการณ์ปี 2565 เติบโต ร้อยละ 5-8 (ณ เดือนมกราคม 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 “โอไมครอน” ทั่วโลกรวมถึงไทย แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัว ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565 และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.7 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 783,424.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.5 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 19.4 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,629.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.5 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 759,679.4ล้านบาท ขยายตัว 28.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 3,927.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 15,545.9 ล้านบาท ส่วน 11 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 246,243.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.4 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,731,390.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.5 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 19.4) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 242,315.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.4 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,715,844.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.8 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2564 เกินดุล 3,927.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 15,545.9 ล้านบาท
สรท. เสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต รวมทั้งเร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี TH – EU-สำนักข่าวไทย