กรุงเทพฯ 10 พ.ย.-นักเศรษฐศาสตร์ แนะกำหนดเพดาน ชดเชยประกันราคาข้าวให้ชัด ป้องกันใช้งบบานปลาย ขณะที่คลัง เร่งหาแหล่งทุน ต้องใช้เงินสูง 89,000 ล้านบาท
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการประกันรายได้การปลูกข้าวนาปี 64/65 ต้องใช้วงเงินสูง 89,000 ล้านบาท ยอมรับว่ามีความเสี่ยง เมื่อราคาตลาดโลกปรับลดลง เช่น ประกันราคา 10,000 บาทต่อตัน หากราคาตลาดลดเหลือ 5,000 บาทต่อตัน รัฐบาล ต้องมีภาระหนักเรื่องชดเชยส่วนต่างมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาล ต้องกำหนดเพดานการช่วยเหลือให้ชัดเจน สามารถช่วยเหลือได้เท่าไร เพื่อให้ชาวนากำหนดพื้นที่ปลูกเหมาะสม มองว่าการประกันราคาแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับเกษตรกร
การแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร ต้องมุ่งเพิ่มมูลค่าการผลิต การลดต้นทุน ปรับโครงสร้างการผลิต การตลาด ทั้งวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวนา เนื่องจากปัจจุบันรายได้ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก จึงต้องหันมาใช้งานวิจัย การพัฒนา พัฒนาระบบปลูกข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง การพัฒนาพันธุ์ข้าว เมื่อชาวนาได้ประโยชน์จะช่วยลดภาระงบประมาณเรื่องการชดเชยราคา
ยอมรับว่า การจำนำข้าว รัฐเป็นเจ้าของข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำ จากนั้นจะนำข้าวมาเก็บไว้ในโกดัง โดยมีข้าวอยู่ในมือรัฐบาล แต่มีความเสี่ยงเรื่อง ทุจริต การรั่วไหล เพราะรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ทั้งประมูลขายข้าว จัดเก็บข้าว ขณะที่โครงการประกันรายได้ รัฐไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้ แต่ข้อมูลต้องแม่นยำ เรื่องการกำหนดราคารับซื้อ และประเมินทิศทางตลาด ไม่เช่นนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมากมารองรับ
นายจรินทร์ เจริญศรี นักวิชาการประจำหลักสูตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศโครงการประกันรายได้ข้าวนาปี 64-65 ต้องใช้เงิน 89,000 ล้านบาท การปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงคงทำได้ยาก เพราะชาวนา คงไม่ยอม ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของโครงการคงไม่ยอมเช่นเดียวกัน หนทางเดียว คือ เดินหน้ากู้เงินมารองรับโครงการดังกล่าว โดยต้องยอมขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติม มองว่าแนวทางดูแลราคาเป็นปัญหาระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนภายใน 1 ปี คือ การพัฒนาการปลูกข้าว นำเทคโนโลยี พัฒนาพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด มองดูประเทศคู่แข่ง จีน เวียดนาม อินเดีย โดยจีนปลูกข้าว โดยใช้เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาได้ผลผลิต 1,400 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าไทย 3 เท่า ผลิตได้ 400 กิโลกรัมต่อไร่ การดูแลการปลูกข้าวครบวงจร ไทยจึงต้องหันมาทำแบบประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเหลือระยะสั้นอย่างเดียวคงไม่ได้
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า หลังจาก ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง หารือกับ สำนักงบประมาณ เพื่อหาแหล่งเงินมารองรับ โครงการประกันรายได้การปลูกข้าวนาปี วงเงิน 89,000 ล้านบาท หลังจากเริ่มจ่ายเฟสแรกไปแล้ว 13,000 ล้านบาท คงเหลืออีก 7.6 หมื่นล้านบาท ต้องจัดหาแหล่งทุนเพิ่ม โดยทยอยจ่ายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ตามพื้นที่การเก็บเกี่ยวของแต่ละภาค ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ยังสามารถใช้ แหล่งเงินจากแบงก์รัฐ แต่คลังยังต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะกฎหมายเพดานกำหนดไว้ ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี นับเป็นข้อกำจัดอยู่ในขณะนี้
โดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ย้ำว่า การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำคัญที่สุด คือ การลดต้นทุนของเกษตรกร หากจ่ายประกันราคา มองว่าจะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ไม่มีวันจบสิ้น จึงต้องหาทางให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง ทั้งการต้นทุนการผลิต เทคโนโลยี การทำนาเกษตรแปลงใหญ่ หาช่องทางยกระดับราคาข้าว ดังนั้นอยากให้หลายหน่วยงาน ดูแลเกษตรกรจบโครงการแล้ว หากมีเงินเหลือเงินให้นำมาส่งคืนคลัง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์.-สำนักข่าวไทย