ม.รังสิต 3 เม.ย.-มหาวิทยาลัยเอกชนร้องขอใช้ ม.44 ช่วยปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5เพื่อหวังต่อยอดงานวิจัยสารสกัดจากกัญชา ที่พบว่าให้ผลยับยั้งมะเร็งทางเดินท่อน้ำดีได้ดี โดยยังเป็นการทดลองในระดับหลอดทดสอบแต่ยังไม่สามารถทดลองในสัตว์และในคนได้ เนื่องจากติดกฎหมาย
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายปลดล็อคกัญชา ออกจากบันชียาเสพติดประเภทที่ 5ในพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หรือใช้ม.44 เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อเปิดทางให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับกัญชา จากตำรวจป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)จึงนำมาสกัดเป็นสาร THC ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งและสาร CBD พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี โดยได้มีการนำมาทดสอบในเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ในกลุ่มมะเร็งที่คนไทยเป็นกันมาก ได้แก่ โรคมะเร็งเดินทางท่อดี พบว่าให้ผลดี
แต่ทั้งนี้ยังติดขัดปัญหาเรื่องกฎหมาย เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ กัญชา ถูกกำหนดทั้งห้ามเสพ และห้ามสูบ ห้ามครอบครอง จึงทำให้ไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทดลองในมนุษย์ได้ ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ ซึ่งทราบว่าได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว รอการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และคนไทยอย่างมาก
ด้าน นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัญหาของกัญชา คือ การห้ามเสพอย่างเด็ดขาดทำให้เป็นอุปสรรคในการศึกษาทดลอง โดยทั่วโลกพบถึง 22 ประเทศที่มีการถอดกัญชาออกจากยาเสพติด อย่างน้อยที่สุดควรปลดกัญชาให้มาอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 แทน เหมือนเช่น ฝิ่น มอร์ฟีน ที่สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้
ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าจากการศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัยรังสิตพบว่าสารสกัดทั้ง THC และCBD ล้วนแต่มีประโยชน์ โดยแผนของมหาวิทยาลัยเตรียมผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการแพ้คีโม หรือรักษาผลข้างเคียงจากยามะเร็ง ซึ่งเป็นลักษณะของยาพ่น ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่ขณะนี้การทดลองคืบหน้าแค่ในหลอดทดลองเท่านั้น เหลือการทดลองในสัตว์และคน จากนั้นต้องผ่านกระบวนการรับรองจาก อย.แต่ยังไม่สามารถดำเนินการสิ่งใดได้ เนื่องจากติดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ที่ 5จึงไม่สามารถเดินหน้าการทดลองได้และยังไม่สามารถเดินหน้าศึกษาพัฒนาในรูปแบบยาเม็ดได้อีกด้วย และหากไม่สามารถแก้กฎหมายได้สำเร็จ เตรียมแผนสอง เบนหน้าไปศึกษาวิจัยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและจะใช้การศึกษาในตำรับยาแผนไทย เบญจอำมฤต แทน
และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้มีการหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งระดมนักสมุนไพรมาช่วยกันค้นคว้า ประเทศไทยเคยใช้กัญชาในทางการแพทย์กี่ตำรับ พบว่าค้นได้ 12 เล่มรวม 91 ตำรับ แสดงว่าเรามีความรู้ภูมิปัญญาวิธีการใช้กัญชามายาวนาน ตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยังพบว่า ในยาเบญจอำมฤต มีส่วนผสมของกัญชารวมอยู่ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ตัวยาเบญจอำมฤตให้ประสิทธิ์ผลยังไม่เต็มที่ เนื่องจาก
ไม่ได้ใช้กัญชาลงไปเป็นส่วนผสม .-สำนักข่าวไทย