กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-ข่าวดี ราคา บี 7 ลด1 บาทพรุ่งนี้ หลัง กบง.ประกาศแผนคุมราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทระยะสั้นถึงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ทั้งลดเงินกองทุน ลดส่วนผสมไบโอดีเซล เหลือบี 6 ลดค่าการตลาด ราคาจะเหลือ 28.29 บาท/ลิตร วันที่ 11 ต.ค. คาดใช้เงินดูแล 3 พันล้านบาท/เดือน หารือคลัง-สภาพัฒน์ขอให้เงินกู้โควิดตรึงราคาแอลพีจีถึง ม.ค. 64 และกู้เงินมาดูแลดีเซล สั่ง กฟผ.-ปตท.ดูแลหาเชื้อเพลิงทดแทนแอลเอ็นจีตลาดจร หวั่นกระทบค่าไฟฟ้า
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร นโยบายพลังงาน หรือ กบง.ในวันนี้ (4 ต.ค.)ว่า ที่ประชุมหารือ เพื่อลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน แพงตามภาวะตลาดโลก และมีมติ เข้ามาดูแลในระยะสั้นจนถึงสิ้นเดือน ตุลาคมนี้ ก่อน โดยในส่วนของดีเซลจะดูแลในกรอบ ไม่เกิน30 บาท/ลิตร มติ กบง. วันนี้ จึงปรับลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บจากบี7 อัตรา1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาบี 7 พรุ่งนี้เช้า(5 ต.ค.) ลดลงประมาณ 1 บาท ราคาในเขต กทม.และปริมณฑลจะลดจาก 31.29 บาท/ลิตร เหลือ ประมาณ 30.29 บาท/ลิตร และต้องยอมรับว่าราคากลุ่มดีเซลที่แพงยังมาจากราคาไบโอดีเซลที่แพงถึง 40 บาทต่อลิตร ดังนั้น ในวันที่ 11-31 ต.ค. 64 กระทรวงจะประกาศลดส่วนผสม ดีเซลพื้นฐาน บี 10 เหลือ บี 6 พร้อมทั้งขอความร่วมมือ ผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาดกลุ่มดีเซล จาก 1.80 บาท เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร ก็คาดว่าจะทำให้ ราคาบี 6 จะอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร ในขณะที่ภาพรวมการใช้บี 100 เพื่อผลิตน้ำมัน จะลดลงจาก 4 ล้านลิตร/วัน เหลือ 3 ล้านลิตร/วัน ในส่วนนี้ ผู้ผลิตจะสามารถส่งออกได้ เพราะ บี 100 เป็นที่ต้องการของตลาดโลก และเกรดขายปลีกหน้าปั๊มจะเหลือเพียง บี 20 และ บี 6 เท่านั้น
“การดูแลราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากเอกชน ในการร่วมมือกับภาครัฐในการเข้ามาดูแลลดค่าครองชีพประชาชน มาตรการนี้จะใช้ระยะเวลาสั้นๆถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ ก่อน โดย ก.พลังงานจะมอนิเตอร์ สถานการณ์โดยตลอด หากโอเปกพลัสเพิ่มกำลังผลิตกว่าแผนงาน เพื่อสนองตอบดีมานดืโลกที่พุ่งขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและช่วงหน้าหนาว หากราคาสูงขึ้นหรือลดลงไปกว่าปัจจุบัน ก.พลังงานก็พร้อมจะเข้าไปดูแลเพิ่มเติม”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ส่วนการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี ) 318 บาท/ถัง 15 กก. กำลังศึกษาจะใช้ราคานี้ไปจนถึง สิ้นเดือน มกราคมปีหน้า จากที่ ปัจจุบันนี้ กบง. ประกาศตรึงราคาจนถึงธ.ค. 64 ภาพรวมแล้วเงินที่เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงาน ในส่วนของ แอลพีจีกำลังหารือกับสภาพัฒนาการเกศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้เงินกู้ จาก พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อคลี่คลายปัญหาโควิด-19 วงเงินรวมจะเป็นเท่าไหร่นั้น กำลังพิจารณา โดยขณะนี้เงินอุดหนุนจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท/เดือน จากราคาแอลพีจีตะวันออกกลางหรือ ซีพี กว่า 800 เหรียญ/ตัน ซึ่งพุ่งสูงมาก โดย ก.พลังงานใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาดูแลราคาแอลพีจีในราคานี้ตั้งแต่ มี.ค. 63 จนถึงปัจจุบันนับกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
ส่วนการดูแลราคาดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร นั้น ล่าสุด เงินกองทุกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีฐานะสุทธิกว่า1.1 หมื่นล้านบาท การดูแลดีเซลตามแนระยะสั้น จนถึงสิ้นเดือนต.ค.64 จะใช้เงินราว 3 พันล้านบาท และเพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนฯจะดูแลราคาพลังงานได้ต่อเนื่อง กระทรวงฯ โดยกองทุนน้ำมันฯจะหารือขอกู้เงินจากกระทรวงการคลังมาดูแล ยืนยันเชื้อเพลิงไม่ขาดแคลน และราคามีเสถียภาพ ซึ่งตามกรอบของกองทุนน้ำมันจะสามารถกู้มาดูแลเสถียรภาพได้ราว 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีตลาดจร ที่สูงขึ้นมาถึงประมาณ 32-34 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็ยอมรับว่า หากต้องนำเข้ามาเป็นจำนวนมากก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้า จึงสั่งการให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และ บมจ.ปตท.ไปหารือร่วมกันว่าจะใช้เชื้อเพลิง หรือ โรงไฟฟ้าจากส่วนใดมาทดแทน เพื่อให้กระทบค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด
“ราคาพลังงานตลาดโลกขึ้นทุกประเภทหลังคลายล็อก โควิด-19 ประกอบกับเกิดพายุสหรัฐกำลังผลิตก็หาย ตอนนี้ส่งผลกระทบทั่วโลก จีนก็ไฟฟ้าดับ ราคาถ่านหินเพิ่มจาก 100 เหรียญเป็น 200 เหรียญ/ตัน ,แอลเอ็นจีเพิ่มจาก 5 เหรียญเป็น 32-34 เหรียญ/ล้านบีทียู ราคาน้ำมันดิบ จากมี.ค.63 ราคาราว 20 เหรียญก็พุ่งมาเป็น 75 เหรียญ/ล้านบีทียู บี 100 ก็เพิ่มขึ้น เงินบาทก็อ่อนค่า ยิ่งทำให้ราคาในไทยสูงขึ้น ทางรัฐบาลก็พยายามดูแลทั้งใช้ทางตรงด้วยการใช้กลไกทุกด้านดูแล ส่วนทางอ้อมก็มีเงินอุดหนุนลดค่าครองชีพ เช่น มาตรการคนละครึ่งและอื่นๆ แม้ไทยจะเกิดปัญหาหลากหลาย แต่ยังมั่นใจจีดีพีปี64 จะเป็นบวก” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่าในส่วนการทำงานยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและพลังงานต่อไป. -สำนักข่าวไทย