สุพรรณบุรี 14 ธ.ค.-กระทรวงพลังงานผลักดันให้ทุกพื้นที่เข้าถึงพลังงาน เล็งขยายผลจากโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน Solar Home ให้ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และไม่เป็นการบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ
กระทรวงพลังงาน เยี่ยมชม โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชนพึ่งพาตนเอง (Off Grid) ระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อบ้านพักอาศัย (Solar Home) หมู่บ้านตะเพินคี่ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าระดับครัวเรือน หรือโซลาร์โฮม (Solar Home) และติดตั้งให้กับครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย โดยในเขตอุทยานแห่งชาติยังติดข้อกฎหมายทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังใช้งบประมาณสูงหมู่บ้านตะเพินคี่เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ตั้งอยู่บนเทือกเขาในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 58 ครัวเรือน ซึ่งมีเลขที่บ้านถูกต้อง แต่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
นายฉัตรชัย คุณโลหิต ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้รับสนับสนุนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขนาด 120 วัตต์ต่อครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านความเป็นอยู่ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว และอุทยานแห่งชาติพุเตย จึงเริ่มวางแผนและออกแบบการติดตั้งโซลาร์โฮมให้กับครัวเรือนในชุมชน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for All) ของกระทรวงพลังงาน โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2564 สำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว ได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงิน 2.8 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนขนาด 500 วัตต์ จำนวน 58 ครัวเรือน พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมู่บ้านเฉลี่ย 4.5 toe (ตันเทียบเท่าตันน้ำมันดิบ) ต่อปี
นายสิทธิชัย ณ นคร พลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าแบบโซลาร์โฮมที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ช่วยให้คนในชุมชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในชีวิตประจำวัน และทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ช่องทางการรับข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติพุเตย เนื่องจากเป็นระบบที่ติดตั้งบนหลังคาไม่ได้ปักเสา โครงการนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงพลังงานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงาน ส่งเสริมพลังงานสะอาดควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านนายฉัตรชัย กล่าวเสริมว่า จากการพิจารณาสภาพปัญหาสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าของหมู่บ้านตะเพินคี่ พบว่าการส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์ผลิตไฟฟ้าระดับครัวเรือน ในรูปแบบ Solar Home มีความเหมาะสม ไม่กระทบกับกฎระเบียบของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเพียงพอต่อการใช้งานในครัวเรือน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญการดำรงชีวิต อีกทั้ง หากคำนวณระยะเวลาคืนทุนจากการติดตั้งระบบในพื้นที่ที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้า (Off-grid) ในวงเงิน 2.8 ล้าน แล้วนั้น คิดเป็นระยะเวลาคืนทุนเพียง 5 ปี 5 เดือน และหากเปรียบเทียบกับกรณีการขยายสายส่งไฟฟ้า การติดตั้งระบบ Solar Home ดังกล่าว สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้กว่า 6.5 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ชายขอบจากการปักเสาตั้งสายอีกด้วย และกระทรวงจะมีการขยายผลโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป -511 .-สำนักข่าวไทย