กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – กรมวิชาการเกษตร คุมเข้มการส่งออกลำไยไปจีน สร้างความเชื่อมั่นลำไยไทยไร้เพลี้ยแป้งและเชื้อโควิด-19 คาดลำไยภาคตะวันออกให้ผลผลิตยาวถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า รวม 4 แสนตัน ผนึกเกษตรกรและผู้ประกอบการร่วมป้องกันตั้งแต่สวนต้นและในโรงคัดบรรจุ
นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โฆษกกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาครับผิดชอบในเขตภาคตะวันออกของกรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยแป้งไม่ให้ติดไปกับผลผลิตลำไยที่จะส่งออกไปจีน รวมทั้งกำกับดูแลเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการส่งออกลำไยไปประเทศจีน เนื่องจากจีนเฝ้าระวังและเพิ่มมาตรการการตรวจสอบเข้มงวดขึ้น
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สวพ.6 กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมการส่งออกลำไยในภาคตะวันออกไปประเทศจีนในฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบศัตรูพืชของสวพ.6 ปฏิบัติงานร่วมกับด่านตรวจพืชในพื้นที่ปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาการตรวจพบเพลี้ยแป้งในลำไยผลสดส่งออกไปจีน
ทั้งนี้ โรงคัดบรรจุในเขตภาคตะวันออกที่อยู่ในความรับผิดชอบมี 93 โรง ได้แก่ จันทบุรี 89 โรง ระยอง 2 โรง และสระแก้ว 2 โรง ซึ่งคณะทำงานและด่านตรวจพืชเข้าไปตรวจสอบศัตรูพืชภายในโรงคัดบรรจุ รวมถึงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติด้านสุขลักษณะที่ดีในโรงงานผลิตสินค้าพืชตามหลัก GMP เช่น การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่กระบวนการผลิต การควบคุมการปฏิบัติงาน การเก็บรักษา การกระจายสินค้า การขนส่ง และการควบคุมสุขลักษณะส่วนบุคคล ตามแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการสุ่มตรวจ ยังเจอปัญหาตรวจพบเพลี้ยแป้ง แต่ผู้ประกอบการร่วมมือปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จึงทำให้สามารถส่งออกต่อไปได้
นายชลธีกล่าวต่อว่า สวพ.6 ประชุมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จ. ระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และกำหนดมาตรการรองรับการบริหารจัดการลำไยภาคตะวันออก โดยการแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งลำไยต้องมีแผน “ระยะเร่งด่วน” คือ ต้องแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งในผลผลิตลำไยในฤดูกาลนี้ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ “ต้นน้ำ” โดยจัดอบรมให้ความรู้วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างมีประสิทธิภาพแก่เกษตรกร ส่วน “กลางน้ำ” พุ่งเป้าไปที่ “สายเก็บลำไย” ซึ่งต้องมีการสร้างการรับรู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องในการเก็บและคัดแยกผลผลิตที่ด้อยคุณภาพออกเพื่อไม่ให้มีเพลี้ยแป้งติดไปกับผผลิต จนถึง “ปลายน้ำ” ในโรงคัดบรรจุต้องตรวจอย่างเข้มงวดทั้งศัตรูพืชและเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกระงับการส่งออก ซึ่งหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจะสามารถป้องกันปัญหาได้แน่นอน
ขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลผลผลิตลำไยของภาคตะวันออกเริ่มออกสู่ตลาดโดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตลำไยในภาคตะวันออกจะมีประมาณเกือบ 400,000 ตัน. – สำนักข่าวไทย