กรุงเทพฯ 25 ส.ค.-เอกชน ขอรัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้แรงงานภาคการผลิตมากขึ้น ก่อนกระทบเศรษฐกิจ มองได้รับวัคซีนน้อยและช้าเกินไป
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสมาคมที่เกี่ยวข้อง มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการเร่งจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานภาคการผลิตทุกกลุ่มให้มากขึ้นและเร็วกว่าที่เป็นมา ไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่อยู่ในส่วนของมาตรา33 เท่านั้น แต่ให้รวมถึงแรงงานนอกประกันสังคมอีกประมาณ 1.3 ล้านคนด้วย เพราะหากต้องการเปิดประเทศและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานครอบคลุมในทุกภาคส่วน โดยมองว่าเวลานี้รัฐบาลยังจัดสรรและฉีดวัคซีนให้กับภาคแรงงานน้อยเกินไป โดยมีความเป็นห่วงว่าหากยิ่งล่าช้าจะทำให้การขาดแคลนแรงงานมีมากขึ้นส่งผลกระทบกับภาคการผลิตเพื่อการส่งออกรวมถึงการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยได้มีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ อยู่ที่ 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โดยยังมีการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในปีนี้จะเกิน 1 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน ในขณะที่ GDP ของประเทศจะขยายตัวติดลบอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และจากการเร่งรัดขอรับการจัดสรรวัคซีนที่เพิ่มขึ้นแล้วหอการค้าไทยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการ สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ และการจัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้าและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จำนวน 500,000 คน
นายผณิศวร ชำนาญเวช รองประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน หอการค้าไทย และ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม เอกชนได้เร่งดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นและให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยมาตรการที่ทำนั้นถือเป็นมาตรการที่เข้มข้นไม่ปล่อยให้เกิดการระบาดในพื้นที่ อาทิ มาตรการ Factory sandbox ควบคุมพื้นที่การผลิต และแรงงานให้อยู่ในวงจำกัด การใช้ Bubble and Seal แยกส่วนแรงงานอย่างชัดเจน ทำให้ปราศจากเชื้อโควิค-19 100% เป็นการการันตีความปลอดภัยในการผลิตสินค้าของประเทศ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารเวลานี้ ยังสามารถดูแลรักษาพื้นที่ได้ โดยในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารยังคงขยายตัวร้อยละ 7 และจะใช้วิกฤตในครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานสินค้าให้กับสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น มั่นใจว่ามาตรการต่างๆที่ภาคเอกชนดำเนินการ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าเพิ่มขึ้น และเวลานี้ยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีบางประเทศใช้มาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ก็เป็นมาตรการที่ใช้ดำเนินการกับทุกประเทศไม่เฉพาะกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว.-สำนักข่าวไทย