กรุงเทพฯ 25 ส.ค.-ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถยนต์ ก.ค. รวม122,852 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.52 ขณะที่ยอดขาย ลดลงร้อยละ 11.62 และส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.42
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีทั้งสิ้น 122,852 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 37.52 เพราะฐานต่ำในปีที่แล้ว แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 8.49 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่พบกับปัญหาขาดแคลนชิพที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนรถยนต์บางชิ้นในการผลิต จึงต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น
ทั้งนี้ จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 967,453 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 39.11 รถยนต์นั่ง เดือนกรกฎาคม 2564 ผลิตได้ 45,203 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 31.09 ยอดผลิตของรถยนต์นั่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 342,180 คัน เท่ากับร้อยละ 35.37 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 30.08
ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก เดือนกรกฎาคม ผลิตได้ 69,934 คัน เท่ากับร้อยละ 56.93 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ร้อยละ 60.25 ส่วนเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 556,171 คัน เท่ากับร้อยละ 57.49 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 42.60
ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนกรกฎาคม ผลิตได้ 52,918 คัน เท่ากับร้อยละ 43.07 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 15.80 และเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ผลิตได้ 411,282 คัน เท่ากับ ร้อยละ 42.51 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 34.65
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,442 คัน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 11.62 และลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 15.08 เพราะมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ลูกค้าจึงระมัดระวังในการใช้เงิน มีการยกเลิกการจองรถหรือเลื่อนการรับรถออกไป รวมทั้งการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการชะลอการผลิตรถยนต์รุ่นที่นิยมจากการขาดแคลนชิพและชิ้นส่วนรถยนต์จากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ส่วนรถจักรยานยนต์ เดือนกรกฎาคม 2564 ผลิตได้ทั้งสิ้น 130,918 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 9.23 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 83,690 คัน และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 47,228 คัน และมียอดขาย 115,623 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 15.62 แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 28.23
ขณะที่ การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งออกได้ 70,590 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 42.42 เพราะฐานต่ำในปีที่แล้ว แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 14.97 โดยส่งออกลดลงในบางทวีป อาทิ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 43,430.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 50.55 อย่างไรก็ตามประเทศคู่ค้าได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์เกือบเป็นปกติแล้ว จึงทำให้การส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 469,509.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 51.58
รถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนส่งออก 87,068 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 121.78 โดยมีมูลค่า 6,317.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 100.19 ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 231.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 323.58 อะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 205.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 119.88 รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนกรกฎาคม 2564 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ 6,754.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 104.45
อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 520,161.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 50.62 .-สำนักข่าวไทย