กรุงเทพฯ 21 ก.ค.-ปตท.เดินหน้า T-ECOSYS พร้อมเปิดไอดีพีแพล็ทฟอร์มปี 65 จับคู่โรงงาน สินเชื่อ ผู้ให้บริการ ยานยนต์และระบบอัตโนมัติ หวังเสริมสร้างขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทย
นายพิชัยรัตน์ จิรานันรัตน์ ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. และ กก.ผจก. พีทีที เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34ของจีดีพี ก่อนโควิด แต่ละปีนำเข้าเครื่องจักร 4 แสนล้านบาท เป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ4 หมื่นล้านบาท ระบบนี้จะยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญ ตั้งคณะกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มปฏิรูปอุตสาหกรรมหรือ IDP ( Industrial Digital Platform ) โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม พัฒนาทั้ง Algorithm โปรแกรม เชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทาน
“แพลตฟอร์ม จะช่วยประมวลผลการลงทุนที่จะใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ มาช่วยในโรงงาน วิเคราะห์ความคุ้มค่า ,การจับคู่เลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เรียกได้ว่าเป็นการให้บริการอย่างครบวงจร หรือวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งจะทั้งเอกชนและมีฐานข้อมูลภาครัฐสนับสนุน เช่น สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรามแห่งประเทศไทย หน่วยงานด้านภาษี เป็นต้น” นายพิชัยรัตน์กล่าว —
นายพิชัยรัตน์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประสานความร่วมมือ นำแพลตฟอร์มปฏิรูปอุตสาหกรรม ทดสอบโครงการนำร่อง 15 โรงงาน โดย 4โรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี หลังทดสอบ โรงงาน มีความพอใจ ลงทุนปรับปรุง ขอบีไอไอ 120 ล้านบาท กู้แบงก์กว่า 100 ล้านบาท และเพื่อให้แพลตฟอร์มเกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปตท.โดยบริษัท สยามแมนเนจเม้นท์จำกัด (บริษัท ย่อยซึ่ง ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด) ถือหุ้นร้อยละ 100 จัดตั้งบริษัท ที-อีโคซิส(“T-ECOSYS”) ทุนจดทะเบียน 350ล้านบาท พร้อมเปิดทางหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมทุน โครงการนี้ไม่ได้หวังผลตอบแทนที่สูง แต่หวังการพัฒนาส่วนรวมเป็นหลัก และจะเปิดให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2565 โครงการนี้ ปตท.มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านอุตสาหกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ปตท. และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเป็นการพัฒนากลไกและสร้างสภาพแวดล้อมใหเกิดการใช้เทคโนโลยีทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ระบบอตัโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่าน Industrial Digital Platform (IDP) ที่พัฒนาโดยปตท. เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการ (Service Provider) กับผู้มีความต้องการใช้บริการในเทคโนโลยีดังกล่าวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมในการกระตุ้นให้เกิดการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศลดการนำเข้า
“ที่ผ่านมาเราเห็น แพล็ทฟอร์มค้าขาย และขยายตัวได้ดี เป็นช่องทางพัฒนาการค้าของผู้ประกอบการรายเล็ก ถึงรายใหญ่ “ที-อีโคซิส”ก็จะพัฒนานแพล็ทฟอร์ม IDP พัฒนากลไก สร้างสภาพแวดล้อม เชื่อมโยงผู้ให้บริการกับผู้มีความต้องการใช้ กระตุ้น ให้เกิดการใช้วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ ลดการนำเข้า รวมถึงเป็นการต่อยอดธุรกิจของ ปตท.แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้หวังกำไร แต่เป็นกลไกเอื้อประโยชน์การแข่งขันของประเทศ”นายพิชัยรัตน์กล่าว
ก่อนหน้านี้ กนอ.ระบุศึกษาแผนร่วมทุนกับ ปตท.และความร่วมมือของแพล็ทฟอร์มดังกล่าวจะส่งเสริมครอบคลุมไปยัง หลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, ยานยนต์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ เป้าหมายใน 6 นิคมฯ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ,นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จ.ระยอง โดยในส่วนนี้มีโรงงานประมาณ 2,400 แห่ง ในขณะที่ หากครอบคลุมทุกนิคมฯของ กนอ.จะมีโรงงานราว 5-6 พันโรงงาน และหากพิจารณาถึงโรงงานทุกพื้นที่ของไทยแล้วพบว่ามีโรงงานขนาด 50 แรงม้าขึ้นไปถึง 7 หมื่นโรงงาน.-สำนักข่าวไทย