กรุงเทพฯ 28 มิ.ย.-กระทรวงอุตสาหกรรมแถลงดัชนี MPI ประจำเดือน พ.ค. 64 ยังเติบโตต่อเนื่องตามกระแสความต้องการตลาดโลกแม้อยู่ในภาวะแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมขอความร่วมมือให้โรงงานทำแบบประเมินตนเองช่วยป้องกันโควิด
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือสศอ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 100.47 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและใน 5 เดือนแรกปี2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.97 สาเหตุมาจากประเทศไทยมีแผนเชิงรุกในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศขับเคลื่อน นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกในหลายประเทศเริ่มกลับมาสู่สภาวะใกล้ปกติจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตที่ขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2564 ได้แก่รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 151.44 จากทโดยเฉพาะรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและเครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากปีก่อนอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับลดการผลิตลงหรือหยุดการผลิตชั่วคราว เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 90.25 จากเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถประหยัดพลังงานและกรองอากาศจากฝุ่นและเชื้อโรคได้ซึ่งตอบสนองและจูงใจผู้บริโภค รวมทั้งตลาดส่งออกไปยังออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และเวียดนามที่เติบโตขึ้นอย่างมาก แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.35 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น
เหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.28 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวดเป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เติบโตได้มากขึ้นหลังจากชะลอตัวตามสถานการณ์โควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์และหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตอุตสาหกรรมในช่วงปีก่อน
ส่วนการส่งออกรวมเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 41.59 สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 63.03 ทั้งนี้ยังพบว่าการผลิตบางกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีระดับค่า MPI ในภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2564 ปรับตัวสูงกว่าภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ไม่มีการระบาดโควิด-19 อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษ นอกจากนี้ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าขยายตัวเกือบทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นผลจากการปิดโรงงานในปีก่อน ในปีนี้การผลิตกลับมาเป็นปกติและส่งออกดีขึ้นจึงส่งผลให้การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางล้อขยายตัวตามไปด้วย ด้านอุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกอย่างจีนลดปริมาณการผลิตเพื่อควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามไลฟ์สไตล์การทำงานที่บ้านและการอาศัยในที่พักมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่เติบโตตามความต้องการใช้งานทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม การผลิตอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตัวเลข MPI ในเดือนมิถุนายน 64 ไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่ประเด็นที่มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการ อาจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการประสานโรงงานในกำกับในการทำแบบประเมินตนเองผ่าน Platform online ตามมาตรการ Good Factory Practice (GFP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน และลดความรุนแรงของการระบาดโดยควบคุมไม่ให้แพร่กระจายสู่ชุมชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และโรงงานที่มีความแออัดในพื้นที่ปฏิบัติงาน.-สำนักข่าวไทย