กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมจับมือเครือ กฟผ.รุกธุรกิจใหม่ ย้ำเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ในปี 2573
นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) กล่าวในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2564 ของบริษัท ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) ว่า เอ็กโก กรุ๊ป อยู่ระหว่างศึกษาลงทุนแผนธุรกิจใหม่ โดยส่วนหนึ่งดำเนินการผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นร้อยละ 40 และมีบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และเอ็กโก กรุ๊ป ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละร้อยละ 30 เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของกลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) เช่น สมาร์กริด นวัตกรรมที่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่น การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และแบตเตอรี่ การพัฒนาสถานีไฟฟ้าและระบบส่ง ให้รองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทนในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
“พลังงานทดแทนและรถอีวีเป็นเทรนด์ที่มาต่อเนื่อง โดยในส่วนของอีวี ภาครัฐตั้งเป้าหมายภายในปี 2578 รถเครื่องยนต์สันดาปจะต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี 100% จะส่งผลให้แบตเตอรี่ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญร้อยละ 40ในการขับเคลื่อนรถอีวี มีความต้องการมากขึ้น ซึ่งบริษัทในเครือ กฟผ.ก็จะร่วมมือกันขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน รวมถึงเรื่องของสมาร์ทกริดและสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งจะเห็นการลงทุนได้ตั้งแต่ปีนี้ เป็นต้นไป” นายกุลิศ กล่าว
นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสเข้าร่วมลงทุนโครงการใหม่ๆ เช่น โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม ซึ่งได้เข้าไปลงทุนในไต้หวันแล้ว ส่วนในประเทศไทยหากเปิดโอกาสลงทุนก็พร้อมเข้าร่วม อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก บริษัทก็ศึกษาโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนด้วย เป็นไปตามนโยบายของเอ็กโก้ ที่จะมีสัดส่วนรายได้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ภายในปี 2573 และอีกร้อยละ75 จะเป็นกำลังการผลิตจากพลังงาน Conventional และธุรกิจใหม่
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า กรณีสงครามระหว่างจีนกับไต้หวัน ปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนโครงการพลังงานลม “หยุนหลิน” ในไต้หวัน ถือหุ้นร้อยละ 25 คาดว่าจะมีกำไร 1,400 ล้านบาทต่อปี ก็อาจมีผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น แต่การลงทุนไต้หวันไม่ใช่รายได้หลัก และบริษัทยังกระจายการลงทุนในหลายประเทศ และในปีนี้ยังเดินหน้าใช้งบลงทุน 37,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 1,000 เมกะวัตต์. – สำนักข่าวไทย