กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – หอการค้าไทย หวั่นกระทบ 5 พันล้าน หากล็อกดาวน์ช่วงสงกรานต์ วางแผนร่วมกับ กทม. ดึงเอกชนเสริมทัพรองรับฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนกว่าร้อยละ 70 ภายในสิ้นปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมหารือรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาท หากมีการล็อกดาวน์ โดยทางกรุงเทพมหานครและหอการค้าไทยได้มีการวางแผน และเล็งเห็นความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยจะควบคุมการเปิดปิดเป็นรายประเภทธุรกิจและพื้นที่เท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้จำกัด ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังมีการหารือเรื่องการวางแผนรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในสิ้นปีนี้ คาดว่า กทม.จะได้รับโควตาวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดส ซึ่งความสามารถในการฉีดวัคซีนของ กทม.ในขณะนี้ อยู่ที่ประมาณวันละ 5,000-10,000 คน เท่านั้น โดยใช้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดอื่น 31 แห่ง ประกอบด้วย รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ทหาร รพ.ตำรวจ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.เอกชน รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง ซึ่งหากมีวัคซีนเข้ามาปริมาณ 1.5-2 ล้านโดส/เดือน หลังจากช่วงเดือนมิถุนายนแล้ว เพื่อที่จะให้ฉีดได้ครบจำนวน จะต้องมีแผนการฉีดวัคซีนให้ได้ 30,000-50,000 คน/วัน ดังนั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการฉีดต่อวันให้ได้ครบ หอการค้าไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยได้ประสานความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลเอกชน ในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ รวมไปถึงสถานที่พักคอย ทั้งก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด ตลอดจนน้ำดื่ม เตียง ระบบการขนส่งวัคซีน รถพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และบุคลากรอาสาสมัครในการฉีด ทั้งนี้ จะมีการกระจายพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ครอบคลุมประชากรในกรุงเทพฯ ให้สามารถเดินทางอย่างสะดวก โดยแผนทั้งหมดนี้ หอการค้าไทยและภาคเอกชนจะร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กทม. เพื่อให้แผนการดำเนินงานนี้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน และ กทม.จะเริ่มฉีดให้กับประชาชนได้ในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันดังกล่าว เชื่อว่าหากการฉีดวัคซีนใน กทม. เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะสามารถครอบคลุมประชากรใน กทม.ได้ประมาณกว่าร้อยละ 70 ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ และจะใช้โมเดลการกระจายวัคซีนนี้ เป็นต้นแบบให้กับการดำเนินงานในต่างจังหวัด โดยให้หอการค้าจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประสานงานต่อไป. – สำนักข่าวไทย