กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – สุริยะนำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมหารือคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น
ทั้งนี้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 5 จี และเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการทำงานสู่ระบบออนไลน์ โดยได้ผลักดันการใช้ระบบฐานข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนอุตสาหกรรม (I-industry) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบดิจิทัล โดยจะเชื่อมข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละภาคส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ประกอบกับเพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชน รัฐบาลไทยมีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) ในไทย รวมถึงสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสียและการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการใช้พลาสติกที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น
นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง ประเทศไทยได้พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างดีที่สุด และได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการเพื่อรักษาตำแหน่งงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำข้อเสนอจากการหารือครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยและพร้อมสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในไทยให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนในไทยต่อไป . – สำนักข่าวไทย