กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – กพช.เห็นชอบส่งเสริมเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ เปิดยื่น ม.ค.64 หลังจากนั้นประเมินผล 1 ปีครึ่งก่อนเปิดรับซื้ออีกรอบ พร้อมเห็นชอบกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 64 วงเงิน 6,500ล้านบาท เน้นสร้างงานสร้างรายได้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. ซึ่่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนโครงการนำร่องโดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) มีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ปริมาณไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคาเฉพาะค่าไฟฟ้า AP (Availability Payment) หรือ ค่าความพร้อมจ่ายเท่านั้น ส่วนค่าเชื้อเพลิงไม่แข่งขันแต่อย่างใด
สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดือนมกราคม 2564 และคัดเลือกเสร็จเดือนเมษายน 2564หลังจากนั้นจะดูผลการดำเนินการเพื่อประเมินผลและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเปิดรับซื้อรอบใหม่ในอีก 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง โครงการนี้เน้นให้เกษตรกรได้ประโยชน์ จึงกำหนดต้องรับซื้อพืชเชื้อเพลิงจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งประเมินว่ากำลังผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกพืชถึง 1,000 ไร่
นอกจากนี้ กพช.เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญฯ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 6,305 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.กลุ่มงานตามกฎหมาย 200 ล้านบาท 2. กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 500 ล้านบาท 3. กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 355 ล้านบาท 4. กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร 200 ล้านบาท 5. กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร 450 ล้านบาท 6. กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 2,200 ล้านบาท 7. กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการสำนักงานกองทุนฯ (ส.กทอ.) 195 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มงานที่ 7 นั้นเน้นสร้างงานสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนใน 76 จังหวัด จึงจัดสรรงบจังหวัดละ 25 ล้านบาทให้เสนอโครงการฯ ผ่านคณะกรรมการบูรณาการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนกลุ่มงานอื่น ๆ เสนอมาที่สำนักงานกองทุนฯ เช่นเดิม โดยจะเร่งเปิดพิจารณาโครงการโดยเร็วตั้งแต่เดือนมกราคมและงบฯ จะพิจารณาเสร็จสิ้นประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ.-สำนักข่าวไทย