นนทบุรี 5 พ.ย. – อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ติดลบเล็กน้อยจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ย้ำ 2 เดือนที่เหลือแม้จะติดลบอยู่คงไม่มาก ส่งผลเงินเฟ้อทั้งปียังคงติดลบตามคาดการณ์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 0.50 ดีขึ้นจากเดือนก่อนเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสด ความต้องการสูง โดยเฉพาะผักสดที่มีความผันผวน เนื่องจากฝนตกชุกจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่
ขณะที่ราคากลุ่มพลังงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงความต้องการสินค้าสุกรในตลาดต่างประเทศสูงขึ้น ส่วนสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย โดยสินค้า โดยรวมไม่ได้มีการปรับขึ้นไปมากมีเพียงผักสดขึ้นเล็กน้อยตามฤดูกาล ไม่ผิดปกติไปมากนัก
ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องแต่น้อยลง มีปัจจัยมาจากการคลายล็อกภาคธุรกิจต่างๆจากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 แต่ขณะนี้ความกังวลดังกล่าวน้อยลงส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เริ่มมีความต้องการสูงขึ้น เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เริ่มลดน้อยลง แม้ว่ามาตรการของรัฐที่ออกมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็ไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากนัก ส่งผลทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) 2563 ลดลงร้อยละ 0.94 เท่านั้น
ทั้งนี้ สนค. มองว่า จากปัจจัยลบด้านโควิดที่ยังเป็นตัวฉุดความกังวลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่บ้าง ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 63 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยแต่ละเดือนยังคงติดลบแต่จะไม่มาก โดยจะมาจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาทั้งการให้เงินสู่ประชาชนบางกลุ่มจะทำให้กระตุ้นภาคเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆอีกด้วย จึงคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 1.5-0.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งมีปัจจัย คือ จีดีพีของประเทศติดลบร้อยละ 7.6-8.6 อัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 35 – 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย