ศาลไต่สวนนัดแรกบีทีเอสร้องประมูลรถไฟฟ้าสีส้มไม่เป็นธรรม

กรุงเทพฯ  14 ต.ค. – ศาลปกครองเริ่มไต่สวนคดีบีทีเอสร้องกรณี รฟม.ปรับปรุงเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ด้านผู้บริหารบีทีเอสและผู้ว่าฯ รฟม.เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนด้วยตนเอง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองเริ่มไต่สวนคดีที่กลุ่มบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองและเพิกถอนมติของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ได้มีการปรับปรุงและขยายเวลาวิธีการประเมินและยื่นซองประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งผู้บริหารบีทีเอส นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนด้วยตนเอง โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างมั่นใจในหลักฐานและอำนาจตามกฎหมายที่มี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าวันนี้ศาลจะไต่สวนโดยอาจจะยังไม่มีคำสั่งอย่างใดออกมา ซึ่งจะต้องติดตามคำสั่งศาลหลังจากศาลพิจารณาเสร็จอีกครั้ง


สำหรับปัญหาการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วง (บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการกว่า 140,000 ล้านบาท  โดยต้องจับตาต่อไปว่าผลของการปรับวิธีการประเมินการยื่นซองประกวดราคาของ รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ดำเนิการไปแล้ว รวมถึงการขยายระยะเวลาให้เอกชนยื่นซองไป 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนี้  ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้ง กับเอกชนยักษ์ใหญ่ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยต้องจับตาว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องมีการล้มการประกวดราคารอบนี้ ซึ่งแน่นอนจะทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้าออกไปอีกหรือไม่

ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อ้างว่าอันนี้ไม่ควรให้พิจารณาให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่น เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่น จนต่อมา รฟม.ได้ออกประกาศปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก รฟม.ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563

การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ส่งผลให้กลุ่มบีทีเอสยื่นคำร้องต่อศาลปกครองวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการมาตรา 36 ที่ปรับปรุงให้มีการขยายเวลา และเพิกถอนเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) เกี่ยวกับการประเมิน และร้องให้ศาลสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ โดยศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องของบีทีเอสและคำคัดค้านของ รฟม.วันนี้   


ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการ รฟม.ยืนยันว่า รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ปรับวิธีการประเมินการยื่นซอง โดยมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2562 ไม่มีการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต เพราะยังไม่มีการรับซองข้อเสนอ นอกจากนี้ ยังมีการขยายระยะเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน ทำให้เอกชนทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอไม่น้อยกว่า 70 วัน และจะมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้เป็นไปตามการประเมินคุณสมบัติ โดยเท่าเทียมกัน และมีข้อต่อสู้ที่สำคัญ คือ ความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้อง (บีทีเอส) โดยยืนยันขณะนี้ยังอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอราคายังไม่ได้ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่เอกชนรายใด จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินฯ หลังจากการปิดขายซองไปแล้วนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.ระบุว่าในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และความเห็นของ สคร.ระบุให้ รฟม.สามารถดำเนินการรับฟังข้อเสนอของเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อดำเนินการ จึงไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ หรือฟังแค่ความเห็นของเอกชนเพียงรายหนึ่งรายใดเท่านั้น

ส่วนข้อกังวลว่าการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องประสบการณ์การขุดอุโมงค์จะส่งผลให้บีทีเอสเสียเปรียบเอกชนรายอื่นนั้น รฟม.ระบุว่าการเปิดให้เอกชนรายใดเข้าเสนอคุณสมบัตินั้น ก็จะมีลักษณะการเปิดกว้างโดยระบุเป็นเพียงประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ที่มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร  รวมทั้งเอกชนที่ยื่นข้อเสนอก็สามารถนำคุณสมบัติของผู้รับเหมาช่วง หรือ subcontract มาประกอบการยื่นข้อเสนอในการพิจารณาคุณสมบัติได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ รฟม. ยืนยันว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง หรือยกคำร้องคุ้มครอง ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอน และยืนยันว่าพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล มั่นใจกรณีดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อแน่นอน

นายสุรพงษ์ ยืนยันอีกครั้งว่าบีทีเอสพร้อมเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลปกครองวันนี้ ส่วนศาลจะมีคำสั่งเมื่อใด ต้องติดตามการพิจารณาของศาลอีกครั้ง โดยในส่วนของบีทีเอสยืนยันว่าการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่บีทีเอส ส่วนข้อต่อสู้ที่ รฟม.ระบุว่ายังไม่มีเอกชนรายใดยื่นซอง บีทีเอสจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น คงต้องไปพิสูจน์กันในศาล

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

เริ่มใช้เครื่องจักรหนักเปิดซากอาคาร สตง.ถล่ม

102 ชั่วโมงแล้ว สำหรับปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม หน่วยกู้ภัยจากนานาชาติให้ความหวังว่ายังมีโอกาสเจอผู้รอดชีวิต ทำให้การค้นหาวันนี้ต้องแข่งกับเวลาอย่างเต็มที่

ทองไทยนิวไฮต่อเนื่อง ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 550 บาท

ทองคำไทยผันผวนหนัก ปรับเปลี่ยน 18 ครั้ง ก่อนปิดตลาดปรับเพิ่ม 550 บาท ระหว่างวันขึ้นไปแตะนิวไฮ ทองคำแท่งขายออก 50,700 บาท ทองรูปพรรณขายออก 51,500 บาท ขึ้นไปต่อเนื่อง