กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – “สุพัฒนพงษ์” เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ ย้ำประโยชน์ตกกับเกษตรกร โครงการเกิดขึ้นต้องรับซื้อพืชปลูกใหม่ เตรียมสรุปความชัดเจน ต.ค.นี้ ด้าน ปตท.สผ.เริ่มเข้า พื้นที่ “เอราวัณ” ได้แล้ว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงพร้อมผู้บริหาร กระทรวงพลังงานด้านนโยบายพลังงานภาพรวม เปิดเผยว่า เดือนตุลาคมนี้การปรุบปรุงหลักเกณฑ์โครงการรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ คงมีความชัดเจน โดยจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตอบโจทย์สำคัญ คือ ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกร ดังนั้น จึงควรเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานที่ปลูกใหม่ทดแทนพื้นที่ปลูกพืชที่มีปัญหาด้านราคา เพื่อเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้
“โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องจะไม่ใช้แผนโครงการควิกวิน (ระยะเร่งด่วน) ตามโครงการเดิม โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่และมีการปลูกพืชใหม่ เพื่อสร้างพลังงานใหม่ เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ซึ่งต้องดูว่าพื้นที่ปลูกได้มากน้อยเพียงใด ต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรวมอย่างไร ซึ่งต้องดูว่าไม่ใช่ประโยชน์ตกแก่เจ้าของที่ดินอย่างเดียว ซึ่งโครงการนำร่องไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อม หากแต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่เช่นเดียวกันกับบริษัท จำกัด (มหาชน) หากจะดำเนินการร่วมกับชุมชนก็ไม่ได้ปิดกั้นเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกณฑ์” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ร่างไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช.ต่อไป ซึ่งหลักเกณฑ์ปรับปรุงจะดูถึงว่าจะปรับหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้า การรับซื้อพืชพลังงาน รวมทั้งปรับเรื่องการถือหุ้นของชุมชน เบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ได้นั้นก็คงจะต้องตัดไป
“โรงไฟฟ้าใหม่จะใช้เวลาก่อสร้างรวม 1 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่พืชที่ปลูกใหม่ประมาณ 500-1,000 ไร่ หากปลูกหญ้าเนเปียร์ใช้เวลา 6 เดือน ก็พร้อมจะส่งเข้าสู่โรงไฟฟ้า หากโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ก็จะใช้พื้นที่ 50,000-100,000 ไร่” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้จัดสรรเงินก้อนใหญ่สุดปีในกรอบงบฯ ปี 2564 วงเงิน 400 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ส่งเสริมพลังงานในภาคชุมชน สนับสนุนโครงการที่แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา เช่น เตาชีวมวลประยุกต์ เตาอบแห้งขนาดเล็ก เครื่องสูบน้ำโซลาร์ขนาดเล็ก เป็นต้น และจ้างงาน 2,000 อัตรา จัดทำสำมะโนข้อมูลพลังงานครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล Big data ด้านพลังงานประเทศ คาดอนุมัติกรอบหลักการเดือนตุลาคม 2563 และ เดือนธันวาคม 2563 จะสามารถเปิดรับข้อเสนอโครงการ เพื่อขอใช้งบกองทุนฯ ดังกล่าวได้
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อให้เกิดการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่องจากผู้รับสัมปทานเดิมรายเดิม คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565 ว่า ทั้ง ปตท.สผ.และเชฟรอนฯ มีแนวโน้มให้ความร่วมมือกันในการเข้าพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ และกำลังจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยกรมฯ ยืนยันว่าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณจะไม่เกิดปัญหาและการผลิตก๊าซฯ จะต้องมีต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าการจัดหาพลังงานจะมั่นคงบนต้นทุนที่เหมาะสม โดยในส่วนของการต่อเนื่องการผลิตแหล่งก๊าซเอราวัณ ภาครัฐพยายามประสานงานให้เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้เตรียมพร้อมหากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน โดยได้เตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทน ด้วยสถานีนำเข้าแอลเอ็นจี ของ ปตท.ที่พร้อมนำเข้ามาทดแทน.-สำนักข่าวไทย