กรุงเทพฯ 26 ก.ย.-“ประภัตร”ลุย สุรินทร์ เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างมาตรฐานปางช้าง สั่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับ-ปฏิบัติได้จริง เพื่อยกระดับมาตรฐาน 250ปางช้างทั่วประเทศ สร้างรายได้ ไม่ทรมานช้าง
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วานนี้ (25 ก.ย.)ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ตาม มีนโยบายยกระดับมาตรฐานปางช้างของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ที่สำคัญ แต่พบว่าปางช้างบางส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้าง ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้าง และการทารุณกรรมช้าง
ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โดยศึกษาและค้นคว้าข้อมูลข้อกำหนดต่างๆ จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรฐานปาง (แค้มป์) ช้างของประเทศไทย พ.ศ. 2545 และมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำร่างมาตรฐาน เพื่อให้มีความชัดเจน เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของปางช้าง/บุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติตาม หรือปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทำงานหรือโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามการปฏิบัติที่ดีได้ ตลอดจน ได้จัดให้มีการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานทั่วไปหรือมาตรฐานบังคับ เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และในการประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปางช้าง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นั้น ได้มีการเสนอให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับ โดยจะบังคับใช้กับปางช้างทุกขนาด อย่างไรก็ตาม จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนพิจารณาให้การรับรอง และประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป
“ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจมีมากถึง 6,000 เชือก ปัญหาที่พบคือ ชาวต่างชาติมองว่าการเลี้ยงช้างของไทยเป็นการทรมานสัตว์ ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับมาตรฐานปางช้าง โดยรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ซึ่งผูเประกอบการเสนอว่ายังมีบางประเด็น ไม่ครอบคลุม ซึ่งก็จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการมาตรฐาน เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย ปฏิบัติได้จริง เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ จึงมอบหมายให้ มกอช. นำเรื่องดังกล่าวกลับไปพิจารณาอีกครั้ง” นายประภัตร กล่าว
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีปางช้างประมาณ 250 แห่ง แบ่งเป็น 1. ปางช้างขนาดเล็ก (มีช้างไม่เกิน 10 เชือก) จำนวน 200 ปาง 2. ปางช้างขนาดกลาง (มีช้างตั้งแต่ 11 เชือก ถึง 30 เชือก) จำนวน 40 ปาง และ 3. ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างตั้งแต่ 31 เชือกขึ้นไป) จำนวน 10 ปาง ซึ่งศูนย์คชศึกษา เป็นสถานที่ดำเนินงานตามโครงการนำช้างคืนถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ชาวบ้านมีความชำนาญในการฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง-สำนักข่าวไทย