กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เปิดใจ ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีใดใด พร้อมทำงานร่วม เพียงช่วยชาติ ไม่มีเป้าหมายทางการเมือง ย้ำ ศบศ.จะทยอย สร้างผลงานด้านเศรษฐกิจต่อเนื่อง ฟื้นจาก โควิด-19 ทุกด้าน จากการทำงานของคณะทำงานร่วมที่มีเอกชนร่วมคิดร่วมทำ และมีเครื่องมือใหม่ชี้วัดเศรษฐกิจ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวไทย ระบุว่า ไม่คิดจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีใดใดอีก หลังจากการก่อนหน้านี้มีการคาดว่า ตนจะเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง โดยตนผ่านงานการเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว (เคยเป็น รมช.คมนาคม สมัยรัฐบาล คสช.) แต่ก็พร้อมจะช่วยงาน รมว.คลังคนใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งการทำงานของตน มองว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องผ่องถ่ายงาน ให้คนรุ่นใหม่ ที่เก่งๆ มาทำเช่น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เก่งและขยันมาก ต่อไป นายสุพัฒนพงษ์ ก็ต้องพัฒนาคนรุ่นต่อไปมาทำงานต่อเนื่อง
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมถึงสนิทสนมกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และถูกใช้งานทางเศรษฐกิจ นายไพรินทร์ ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจน เพียงแต่ระบุว่า เมื่อ นายกรัฐมนตรี ใช้งาน ก็มาช่วยงาน เพื่อช่วยประเทศชาติ และตนเองไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง
“ไม่ทราบ..ท่านอาจชอบใช้งานผม ผมก็จะจำกัดบทบาทผมอยู่แค่นี้แหละ เพราะผม ไม่มีเป้าหมายทางการเมืองอะไร หากคิดว่าจะช่วยชาติอะไรได้ ก็ช่วย แต่คิดว่าซักวันหนึ่ง เมื่อเราไม่ไหว เราแก่แล้วเราก็จะออกมา ทำอะไรเท่าที่ทำได้ แต่ผมไม่ได้คิดนะว่า..ผมทำงานได้คนเดียว แต่คิดว่าคนอื่นเค้าก็ทำได้ ผมคิดว่า เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีใช้ใคร ผมก็ช่วยเค้าก็เท่านั้นเอง” นายไพรินทร์กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯชุดที่ตนเป็นประธานมีคณะอนุกรรมการ 3 ด้านทั้ง เสนอแนะมาตรการเร่งด่วน,มาตรการระยะปานกลาง-ระยะยาว และ สนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา ซึ่งจะเห็นว่า ศบศ.ตั้งมาวันที่ 13 ส.ค. 63 มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง ทุก 2 สัปดาห์ ประชุมเสร็จก็เสนอมาตรการ เข้า ครม.ทันที เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยขอยืนยันว่า มาตรการต่างๆมีรอบด้าน ทั้งการกระตุ้นการจ้างงาน การท่องเที่ยว การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การช่วยเหลือรากหญ้า การผลักดัน เมกะโปรเจกต์ที่ค้าง และที่เสนอใหม่ กลไกทางด้านการเงิน การลงทุน ซึ่งนับจากนี้ไปก็จะมีโครงการทยอยออกมาเรื่อยๆ โดยเป้าหมายคือ ทำให้เศรษฐกิจขยับตัวดีขึ้น ไตรมาส 3 และ 4 จะต้องดีกว่าไตรมาส 2 /63 ที่ติดลบถึงร้อยละ 12 และจะพยายามทำให้ดีที่สุด จากที่หลายฝ่ายมองว่า จีดีพีปีนี้จะติดลบถึงร้อยละ 8-9
โดยมีเครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เสนอนายกรัฐมนตรีไว้คอยติดตามและเร่งรัดงาน เร่งรัดการใช้งบฯได้ตรงจุด เรียกว่า LEAD INDICATOR ตัวชี้วัดผลงานที่เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงผลระหว่างกระบวนการ สามารถ นำไปใช้พยากรณ์แนวโน้มของตัวชี้วัดตามได้ เพราะ หากจะรอเฉพาะ ตัวเลข จีดีพี ประกาศอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐ จะต้องใช้เวลาถึง 45 วัน หลังจบแต่ละรายไตรมาส ซึ่งไม่ทันกาล แต่ตัวชี้วัดใหม่นี้ ก็จะบอกได้ว่า โครงการใดต้องเร่งทำ และมีผลทางเศรษฐกิจอย่างไร จุดไหนไม่ต้องเร่ง ซึ่งก็จะทำให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีเครื่องมือ ร่วมตัดสินใจด้วยว่า โครงการที่มาให้พิจารณาทั้งหมด ควรจะต้องเห็นชอบว่า ควรอนุมัติโครงการใด เพื่อเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เหมือนในอดีตที่ต้องให้ทุกกระทรวงเสนอโครงการมา และ สศช.ก็ต้องมาไล่วิเคราะห์ว่าโครงการไหนเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลานาน
“คณะทำงาน ศบศ.ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี กรรมการ มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ฝ่ายนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมกันคิดรอบด้าน ไม่ได้ เกิดจากการคิดกันแค่ 4-5 คน ยิ่งมี LEAD INDICATOR ชี้วัดเศรษฐกิจก็จะทำให้เร่งรัดโครงการต่างๆได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเมกะโปรเจกต์ที่ค้างไว้ ก็จะเร่งรัด เช่น การประชุม ศบศ.วานนี้ ทาง นายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็ยืนยันว่าจะเร่งรัดงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด” นายไพรินทร์ กล่าว . – สำนักข่าวไทย