กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – ก.พลังงาน พร้อมส่งเสริม EV ทุกรูปแบบ เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน-สถานีชาร์จ ด้านเอกชน และ กมธ.พลังงาน แนะรัฐเร่งสร้างดีมานด์รถอีวี เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ก่อนที่จะแข่งขันไม่ได้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยความคืบหน้าแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย กระทรวงพลังงานยังคงเป้าส่งเสริมให้เกิดการใช้รถ EV จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2573 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และเทคโนโลยีรถ EV มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าจะมีรองรับรถ EV ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอ อาจรองรับได้มากถึง 3 ล้านคัน
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างศึกษากรณีให้ผู้ใช้รถ EV สามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถ EV ขายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถ EV กลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า การส่งเสริมใช้รถ EV ควรวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยการลดอุปสรรคด้านราคารถ EV ก่อน ด้ รวมถึงต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อสถานีทั่วประเทศ ส่งเสริมการชาร์จด้วยความเร็วประมาณ 15-20 นาที
“การใช้รถEVในรถสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถยนต์ของราชการก่อน เมื่อมีความต้องการใช้จะส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรถ EV ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตชิ้นส่วน EV และส่งผลให้การใช้รถEV ครอบคลุมไปถึงรถ E-bike และรถEV ส่วนบุคคลต่อไป และท้ายที่สุดจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถ EV ในอาเซียนต่อไป”นายสมโภชน์ กล่าว
ด้านนายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่คิดเป็น 40-50% ของราคารถ EV หากราคาแบตเตอรี่ลดเหลือเพียง 30% จะทำให้รถ EV มีราคาเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน หากไทยไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้จะส่งผลให้ไทยเสียฐานการผลิตรถ EV ของอาเซียน สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมาอนาคต คือ โรงงานผลิตรถยนต์สันดาปจะปิดตัว รายได้ รัฐ 2 ล้านล้านบาท/ปี จะหายไป โรงงานชิ้นส่วน 2,200 แห่งจะปิดกิจการ กระทบคนงาน 8.5 แสนคน และไทยจะต้องนำเข้ารถ อีวีปีละหลายแสนล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมธิการพลังงาน ได้จัดตั้งอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถ EV
ปัจจุบันมีรถ EV ที่จดทะเบียนใหม่( 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2563) มีจำนวน 3,076 คัน รวมสะสมตั้งแต่ปี 2558 ทั้งสิ้น 4,301 คัน เทียบกับปี 2560 มีจดทะเบียนเพียง 165 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง . – สำนักข่าวไทย