กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – กนอ.จับมือ กฟภ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนใต้ เพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงาน รองรับการเป็นฮับภูมิภาคอาเซียน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยการดำเนินการตามสัญญาจ้างงานปักเสาพาดสายไฟฟ้าแรงสูง 33 กิโลโวลต์ ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของรัฐบาล เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ประกอบกิจการ สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงาน รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยและการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Gateway to Asean)
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสงขลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 927 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 629 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 289 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 56 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 282 ไร่ ปัจจุบันการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 1 มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว 70 % ยอมรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 กระทบกับการก่อสร้างที่ล่าช้าบ้าง แต่มั่นใจว่าจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2563 ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนในประเทศเช่าพื้นที่ 30 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 8 – 9 % ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ โดยมีการจัดโปรโมชั่นฟรีค่าเช่า 3 ปีแรก ปีที่ 4 ค่าเช่าคิดค่าเช่าเพียง 25%
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. เปิดเผยว่า กฟภ.ร่วมมือกับ กนอ.ดำเนินการก่อสร้างขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง 33 กิโลโวลต์ จากภายนอกมายังพื้นที่โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ระยะที่ 1 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมระยะทางงานก่อสร้าง 7.446 กิโลเมตร แบ่งเป็นการก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงสูง 33 กิโลโวลต์ แบบเคเบิ้ลใต้ดิน ระยะทาง 0.546 กิโลเมตร รวมมูลค่าวงเงินก่อสร้าง 35.5 ล้านบาท โดยการดำเนินงานดังกล่าวมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นการพัฒนาประเทศให้มีความเติบโตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการดำเนินการปักเสาพาดไฟฟ้าแรงสูงจากภายนอกมายังพื้นที่โครงการฯ จะติดตั้งตามตำแหน่งหม้อแปลงสำหรับตู้จ่ายไฟฟ้า 23 จุด ประกอบด้วย อาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม อาคารโรงจ่ายน้ำประปา อาคารโรงกักเก็บขยะ อาคารโรงบำบัดน้ำเสีย อาคารสถานีสูบน้ำ และระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ รวมทั้งก่อสร้างติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงตามแนวถนน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน นับตั้งแต่ที่มีการลงนาม ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีความประสงค์ร่วมกันในการเป็นผู้ให้บริการพัฒนาระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ระยะที่ 1 โดยคาดว่าจะเสร็จปลายปี 2563.-สำนักข่าวไทย