กรุงเทพฯ 4 ส.ค.-EA รับรายได้ปีนี้พลาสดเป้า 5 พันล้านบาท หลัง โครงการผลิตรถยนต์นั่ง ไม่สามารถผลิตได้ทันในปีนี้ เพราะผลกระทบจากล็อกดาวน์ โคดวิด-19 ส่วนธุรกิจไบโอดีเซล เพิ่มช่องทางหารายได้เพิ่มจากสารPCM เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ผลกระทบการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้กระทบต่อโครงการลงทุนของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “MINE SPA1” กำลังผลิต 5 พันคัน/ปี ซึ่งจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ ดังนั้น โครงการเริ่มผลิตจึงล่าช้าออกไปจากเริ่มผลิตปี 63เลื่อน ไปเป็นปี64 ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่ลดลง ก็ทำให้ ผู้ประกอบการแท็กซี่ ต้องการชะลอการรับซื้อรถยนต์ที่เดิมมีคำสั่งซื้อราว 4 พันคันออกไปก่อน ดังนั้น รายได้ของปีนี้ คาดว่าจะลดลงจากเดิม ประมาณ 5 พันล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี กว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็จะเหลือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนกำไรปีนี้ คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 63 ที่มีกำไรประมาณ 6 พัน ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้า ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการพลังงานลมหนุมาน 260 เมกะวัตต์ ส่วนธุรกิจไบโอดีเซล แม้ยอดขายจะลดลง ช่วงล็อกดาวน์บ้าง แต่เนื่องจากปีนี้ ประกาศใช้ บี 10 ทำให้มียอดใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่ประกาศใช้เพียง บี 7
“ในส่วนของ น้ำมันไบโอดีเซล คาดว่าคงไม่สามารถประกาศใช้เกิน บี 10 ได้อีกแล้วเพราะค่ายรถจะไม่ยินยอม ดังนั้นการเพิ่มรายได้ส่วนนี้ ก็พยายามหาเพิ่มจากจากผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะหรือ PCM (Phase Change Material) ที่ขณะนี้ได้เริ่มผลิตส่งออกปลายปีนี้ ไปญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคารก่อสร้างต่างๆ อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองหาโอกาสเจาะกลุ่มตลาดเครื่องนุ่งห่ม เพราะสารนี้ใช้ได้ทั้งป้องกันความหนาวและร้อน ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้อีกทาง” นายอมร กล่าว
สำหรับการขยายลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ล่าสุดได้ร่วมลงนามพันธมิตร 3 ราย(ผู้ร่วมพัฒนา) ได้แก่ 1. Chaleun Sekong Energy Company Limited จาก สปป.ลาว, 2. Vega Digital Company Limited ประเทศไทย และ 3. PSL Service Sole company Limited ร่วมลงนามกับรัฐบาล สปป.ลาว ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ คือ 1. Saravan Downsteam Hydropower Project และ 2.Phamong Hydropower Project รวมกำลังการผลิตราว 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับประเทศไทย และประเทศเวียดนาม คาดว่าจะศึกษา 2 ปี หลังจากนั้นหากเดินหน้าโครงการก่อสร้างก็จะรามใช้เวลา 7-9 ปี ซึ่งหากโครงการเดินหน้าก็จะสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่บริษัท
สำหรับความคืบหน้าการยื่นประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์ม 4 โครงการ ในประเทศเมียนมา กำลังผลิต100 เมกะวัตต์ ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลเมียนมา ประกาศผล คาดว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย.นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะรู้ผลในเดือน ส.ค.นี้ /สำนักข่าวไทย