กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – รมช.เกษตรฯ ชี้กระบวนการแบนพาราควอตเป็นไปตามกฎหมายไม่สามารถทบทวนได้ แต่เปิดช่อง หากกรมวิชาการเกษตรรวบรวมข้อมูลพบว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากต้นทุนที่สูงขึ้นและผลผลิตต่ำลงสามารถเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา ด้านผู้แทนเกษตรกรเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพรุ่งนี้ หวังเป็นที่พึ่งสุดท้าย ให้ทบทวนการแบนพาราควอต
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การแบนสารเคมี 2 ชนิดเป็นไปตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงไม่สามารถทบทวนการแบนได้ โดยเกษตรกรจะต้องนำสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสส่งคืนร้านค้าภายในวันที่ 29 สิงหาคม เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามครอบครอง จำหน่าย นำเข้า และผลิต ไม่เช่นนั้นจะมีโทษทั้งปรับและจำคุก
ทั้งนี้ รู้สึกเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการห้ามใช้พาราควอตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้มายาวนาน แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ามีอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีข้อมูลว่าหากสะสมในร่างกายมากจะเกิดอันตรายต่อเกษตรกร อีกทั้งมีผู้นำพาราควอตไปดื่มเพื่อฆ่าตัวตายหลายราย จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรฯ หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตรหาสารทดแทน ได้แก่ สารไดยูรอน อาทราซีน อามีทรีน และกลูโฟซิเนตใช้ในมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ส่วนไม้ผล ยางพารา และปาล์มน้ำมันใช้สารไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต ซึ่งทราบว่าประสิทธิภาพด้อยกว่าพาราควอตและราคาแพงกว่า แนวทางช่วยเหลืออีกประการ คือ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดหาเครื่องมือ-เครื่องจักรกำจัดวัชพืช ได้แก่ เครื่องตัดหญ้าและรถไถ ซึ่งเชื่อว่ามีต้นทุนถูกกว่าการใช้สารเคมี
นายประภัตร กล่าวต่อว่า การพิจารณายกเลิกสารพาราควอตอาจเป็นไปได้ในอนาคต หากกรมวิชาการเกษตรนำเสนอข้อมูลว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำลง แต่ขณะนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วไปก่อน
ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) จะร่วมกับเกษตรกรจำนวนหนึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการแบนพาราควอต พร้อมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชที่แนะนำให้ใช้ไม่สามารถทดแทนพาราคอวตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์เผาไหม้ได้ เพราะลักษณะการออกฤทธิ์ต่างกัน เกษตรกรใช้สารที่แนะนำแล้ว ปรากฏว่า พืชที่ปลูกชะงักการเจริญเติบโตจากสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์ดูดซึม ไม่สามารถกำจัดวัชพืชซึ่งเติบโตเร็วมากในฤดูฝนได้ทัน ทำให้ผลผลิตต่ำด้วย หวังว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายช่วยให้เกษตรกรที่เดือดร้อนมากนั้น สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้.-สำนักข่าวไทย