กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ รับข้อเรียกร้องเกษตรกร เสนอข้อมูลใหม่ส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาทบทวนยกเลิกใช้พาราควอตเร็วที่สุด ด้านผู้แทนเกษตรกรระบุพรุ่งนี้เส้นตายส่งคืน 2 สาร แต่ยังจำเป็นต้องใช้กำจัดวัชพืช ลั่นยอมติดคุก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับฟังข้อร้องเรียนของผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล โดยระบุว่า จะทำหนังสือส่งถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) โดยด่วน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาทบทวนการยกเลิกสารพาราควอต ทั้งนี้ จะรวมข้อมูลของเกษตรกร ซึ่งนำโดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้ากับข้อเสนอของเกษตรกรที่นำโดยเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและข้อมูลทางวิชาการของนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย
ส่วนที่เกษตรกรขอให้นำมติ คกก.วอ.วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ซึ่งระบุให้ดำเนินการมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต โดยเกษตรกรเห็นว่าเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด ตลอดจนทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งนายเฉลิมชัย ยินดีรับเรื่องไว้พิจารณา
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบหลังจากการแบนพาราควอต ส่งผลให้เกษตรกรต้นทุนสูงขึ้น หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรประสบปัญหา อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงาน มีสินค้าผิดกฎหมายลักลอบผสมสารเคมีอ้างเป็นสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรได้นำแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำแล้ว ได้แก่ สารทางเลือกไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต พบว่าวัชพืชไม่ตาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชปลูก ผลผลิตเสียหาย รวมทั้งนักวิชาการแสดงความเห็นต่อสารทางเลือกต่าง ๆ พบว่าไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา
ส่วนทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะและกระทรวงเกษตรฯ ถึงความล้มเหลวของมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีนั้น นายสุกรรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรที่อบรมมีประมาณกว่า 400,000 คน แต่อีกล้านคนยังไม่ได้เข้ารับการอบรม เพราะกระทรวงเกษตรฯ ยุติการอบรม หากกระทรวงเกษตรฯ เปิดอบรมตามมาตรการจำกัดการใช้ เกษตรกรยินดีร่วมมือและจะทำให้มีความรู้ ใช้สารเคมีการเกษตรทุกชนิดได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้บริโภค ที่ผ่านมามีหลักฐานว่าข้อมูลของไทยแพน ซึ่งนำไปสู่การแบนพาราควอตนั้นเป็นเท็จ จึงต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งข้อมูลใหม่ต่อ คกก.วอ. เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า วันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.) เป็นเส้นตายที่เกษตรกรต้องนำพาราควอตไปคืนร้านค้า แต่ตัวเองนั้น ยังจำเป็นต้องใช้ หากสารวัตรเกษตรจะมาจับกุมตามที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ที่ปรึกษาของนางสาวมนัญญาระบุไว้ในขณะที่ประชุมกับไทยแพน เกษตรกรก็ยอมติดคุก.-สำนักข่าวไทย