กรุงเทพฯ 31 ก.ค. – ธปท.เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.หดตัวลดลงจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ ขณะที่ไตรมาส 2 คาดติดลบหนักสุด เตรียมประเมินจีดีพีใหม่ หลังมีความชัดเจนสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศช่วงเดือนกันยายน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน 2563 หดตัวลดลง และมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป พร้อมมองว่าจากสถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/2563 จะเป็นจุดต่ำสุด โดยจากคาดการณ์เดิมเดือนมิถุนายนคาดว่าจะติดลบระดับ 2 หลัก หรือติดลบ 10% ต้น ๆ แต่ยังรอตัวเลขเป็นทางการจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะประกาศออกมากลางเดือนสิงหาคมนี้อีกครั้ง พร้อมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะก่อนเกิดโควิดได้ในช่วงปี 2565
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ขณะนี้เมื่อมองไปข้างหน้าเชื่อว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูง ซึ่งมองว่าไตรมาส 3 จะเป็นจุดตัดของการระบาดในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการระบาดอย่างรุนแรงและหลายประเทศก็พยายามควบคุมการระบาด เพื่อไม่ให้นำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ดังนั้น เดือนกันยายนจะมีความชัดเจนในสถานการณ์มากขึ้น และหากมีทิศทางที่ดีขึ้น ธปท.จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ติดลบลดลง จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.1%
สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคม จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2563 แต่หากไม่รวมส่งออกทองคำ การส่งออกรวมจะติดลบ 18.4% อย่างไรก็ตาม อัตราการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง สะท้อนรายได้ของประเทศที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ ด้านเสถียรภาพเศรฐกิจยังเปราะบาง เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบน้อยกว่าที่คาด ตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากจำนวนผู้ว่างงานยังสูงขึ้น ด้านบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน .- สำนักข่าวไทย