กรุงเทพ ฯ 11มี.ค. – ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 1.5% หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เขย่าเศรษฐกิจทั่วโลก กินเวลา 6 เดือนเต็ม เผยรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จะหายไปราว 278,000 ล้านบาท และหากภัยแล้งรุนแรง อาจทำให้พืชผลการเกษตรหลักสูญเสียรวมถึง 58,000 ล้านบาท
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะหายไปราว 278,000ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯจะลดลงประมาณ 3 ล้านคน ภูเก็ตและเชียงใหม่จะลดลงกว่า 1 ล้านคน โดยรายได้ของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ จะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนด้านการส่งออก คาดว่าจะหดตัว 1.9% โดยผลกระทบต่อการส่งออกคาดว่าจะสั้นกว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
ซึ่งหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กินเวลา 6 เดือนเต็ม มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเพียง 1.5% ภาพการลงทุนของเอกชนในปีนี้จึงไม่สดใสนักและมีแนวโน้มจะชะลอเพิ่มเติมเพราะราคาน้ำมันลดลงแรง นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจอาเซียนที่ชะลอลง สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ และข้อตกลง EVFTA ของเวียดนามที่จะเพิ่มอุปสรรคต่อการส่งออกสิ่งทอไทยในตลาดยุโรป โดยเฉพาะภัยแล้งหากรุนแรง อาจทำให้พืชผลการเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย สูญเสียรวม 58,000ล้านบาท กระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตร
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ของทุกส่วนราชการ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจะสามารถเบิกจ่ายเต็มวงเงินที่ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนงบลงทุนจะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 67% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ คาดว่าภาครัฐจะระดมมาตรการกระตุ้นการบริโภคออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย การต่อยอดมาตรการกระตุ้นการบริโภค ชิมช้อปใช้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและประคับประคองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ส่วนภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าธรรมเนียมและจดจำนอง
ด้านนโยบายการเงิน มองว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผ่อนคลายเพิ่มเติม และมีโอกาสจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 0.75% ต่อปี ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อลดภาระการชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการและครัวเรือน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสที่สอง แต่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลในระดับสูงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก.-สำนักข่าวไทย