กรุงเทพฯ 16 ก.พ.- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดราคาน้ำมันดิบไตรมาส1/68 อ่อนตัวตามติดสถานการณ์โลกพร้อมปรับตัว เร่งแก้ปัญหา CFP ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 ภาพรวมผลการดำเนินงานดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นปี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว แม้ว่า Crude Premium จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม สำหรับกำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์เสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับกำไรของธุรกิจปลายน้ำ เช่น สารพีทีเอ ที่ยังถูกกดดันรวมถึงส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตลอดจนการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม เช่นเดียวกับ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝนและอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้ ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2567 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท
“สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 คาดว่าตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”นายบัณฑิตกล่าว
ไทยออยล์ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาด(CFP)ให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด
สำหรับภาพรวมปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก โรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท
ปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีกําไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อก น้ำ มัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 5.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 307 พันบาร์เรลต่อวัน ทําให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายและ EBITDA จํานวน 455,857 ล้านบาท และ 22,026 ล้านบาทตามลําดับ เมื่อรวมผลขาดทุนการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน กําไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิกําไรพิเศษจากการซื้อ คืนหุ้นกู้ ค่าใช้จ่ายดําเนินงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา ส่งผลให้ผลการดําเนินงานประจําปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีกําไรสุทธิ 9,959 ล้านบาท หรือคิดเป็ นกําไรสุทธิ 4.46 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 31ธันวาคม 2567 กลุ่มไทยออยล์มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 409,010 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี ก่อน 10,982 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมของกลุ่มไทยออยล์ปรับลดลง 8,855 ล้านบาท จากสิ้นปี ก่อนมาอยู่ที่ 242,826 ล้านบาท สาเหตุหลักจากเงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ (รวมส่วนที่ถึงกําหนดชําระภายในหนึ่งปี )ลดลง จากการไถ่ถอนหุ้นกู้บางส่วนคืน ก่อนกําหนด และผลต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นของกลุ่มไทยออยล์มียอดรวมทั้งสิ้น 166,185 ล้านบาทลดลง 2,127 ล้านบาท จากสิ้นปี ก่อน สาเหตุหลักมาจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง จากการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกําไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในส่วนของเงินลงทุนลดลง
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชําระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทํางานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทําให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจํานวนคนงานลง จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมโดยให้ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) มาตรวจสอบและวิเคราะห์การก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการ จากรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านเทคนิค เห็นว่าการที่จะก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 241,472 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 7,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐและดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 37,216 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากการดําเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทําให้บริษัทฯ มีหน่วยกลั่นนํ้ามันดิบใหม่ที่มีขนาดกําลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กําลังการกลั่นนํ้ามันดิบของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด(Economies of Scale) อีกทั้งด้วยการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทําให้สามารถกลั่นนํ้ามันดิบที่มีความหลากหลาย รวมทั้งนํ้ามันดิบชนิดหนักที่โดยทั่วไปมีราคาตํ่ากว่าราคานํ้ามันดิบชนิดอื่น ทําให้สามารถผลิตนํ้ามันสําเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในการเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ .-511 -สำนักข่าวไทย