กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ โดยมีนักวิชาการและตัวแทนสื่อร่วมแสดงความคิดเห็น หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตัดสินจำคุก “ดร. พิรงรอง” กรรมการกสทช. กรณีที่กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้… โดยเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชันอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดเป็นโจทย์ฟ้องจำเลยคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์วานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) กรณีที่กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID โดยศาลพิพากษาจำคุกศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์อ่านแถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์ซึ่งระบุว่า คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลที่พิจารณาว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 157 แต่กังวลว่า ผลของคดีอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และ กระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต อีกทั้งการ ฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิด ความกดดันและความกลัว พร้อมแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.พิรงรองที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
ต่อมาศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้ข้อคิดเห็นผ่านการบันทึกเทปว่า การฟ้องร้องหลายๆ คดีผู้นำคดีขึ้นสู่ศาลนอกจากจะหวังผลการแพ้ชนะแล้ว ยังหวังผลข้างเคียงจากการพิจารณา นักกฎหมายไม่ควรตีความเฉพาะตัวบทกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและบริบทเพราะการพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ เป็นการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นต้องไม่ตีความไปในทางที่จะทำให้ตกเป็นเครื่องมือของการแสวงหาประโยชน์ข้างเคียงของการพิจารณาคดี
สำหรับผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้…ประกอบด้วยนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
รองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์เดชกล่าวว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรองยังสามารถปฏิบัติหน้าที่กรรมกสทช. ต่อไปได้ แม้ศาลตัดสินจำคุก แต่ได้ประกันตัวสู้คดีในชั้นต่อไป ดังนั้นคดียังไม่ถึงที่สุด ทั้งนี้ไม่ได้เห็นคำพิพากษาฉบับเต็ม ได้อ่านเฉพาะข่าวจากศาล แต่สิ่งที่ควรต้องพิจารณาเกี่ยวกับการทำงานของกสทช. คือ เหตุใดข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งควรเป็นความลับเพื่อให้ผู้มีหน้าที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ กลับหลุดออกมาภายนอก ส่วนการจดบันทึกเท็จ ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ใครเป็นผู้จดบันทึกและมีผู้ใดสั่งให้ทำบันทึกเท็จหรือไม่ ตามที่มีการกล่าวถึงในการพิจารณาคดีว่า เป็นเอกสารเท็จ แต่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทำงานของกสทช. มีปัญหา แต่เชื่อมั่นว่า ความสุจริตจะคุ้มครองศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง Effect ที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือ จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐขยาดในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าเดิม ทำให้มีการทำงานแบบเกียร์ว่างและไม่แกว่งเท้าหาเสี้ยนเพราะเกรงจะติดคุก
นายระวีกล่าวว่า กสทช. มีภารกิจที่ต้องเดินหน้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและกำกับดูแลบริการเนื้อหาและแพลตฟอร์มที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตโดยตรงหรือ OTT (Over-the-Top) ซึ่งปัจจุบันบริการ OTT ยังไม่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของกสทช. โดยตรง ธุรกิจ OTT โตขึ้นทุกวัน กฎหมายกำกับดูแล ยิ่งมาช้าจะทำลายทีวีดิจิทัล ค่าโฆษณาบน OTT ที่ถูกกว่า ทำให้เงินรายได้จากโฆษณาบนโทรทัศน์ย้ายไปอยู่บน OTT
นางสาวสุภิญญากล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรองสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมไทย ทั้งในแง่การทำหน้าที่ของกสทช. และนักกฎหมาย สะท้อนไปถึงอนาคต วงการสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม ในฐานะที่เป็นอดีตกรรมการกสทช. ยอมรับว่า การทำงานภายในกสทช. มีปัญหา ส่วนการทำหน้ากสทช. จนต้องถูกฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ โดยความสัมพันธ์ของผู้ดูแลและผู้ถูกดูแลย่อมมีความขัดแย้งกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ส่วนใหญ่เมื่อบอร์ดมีมติแล้ว หากผู้ประกอบการไม่พอใจการกำกับดูแลสามารถทำหนังสือถึงบอร์ด ท้วงติงการออกคำสั่ง รวมถึงนำเรื่องไปที่ศาลปกครอง เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดี หลายครั้งเรื่องยุติที่ศาลปกครอง ไม่ได้มุ่งดำเนินคดีอาญา
สำหรับจุดหมายของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรองคือ การคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องที่ควรทำมานานตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แต่มีความล่าช้า การเป็นแบบนี้ใช่การละเว้นการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้ายังไม่มีตอนนี้จะกระทบอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ความพยายามกำกับดูแล OTT ของอาจารย์พิรงรองทำให้ต้องรับผลกระทบเช่นนี้ กสทช. จะต้องเร่งเดินหน้าออกมาตรการกำกับดูแล OTT เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค . 512 – สำนักข่าวไทย