สมาพันธรัฐสวิส 23 ม.ค.-รมว.เกษตรฯ นำเสนอที่ประชุม First Movers Coalition ไทยส่งเสริมการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับนโยบายสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมการประชุมและเสวนา Meeting of the First Movers Coalition Leaders ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความสำเร็จและแนวทางในการผลักดันให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวหรือ Green Procurement
ศ.ดร.นฤมลนำเสนอในที่ประชุมว่า ประเทศไทยนำรูปแบบการทำนาแบบเปียกสลับแห้งมาทดลองโดยเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยพบว่า ลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 50 ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน และสามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25-40 โดยสามารถต่อยอดเป็นคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน รวมถึงเกษตรกรไทยที่สูงวัยมากขึ้น ทำให้ต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในภาคการเกษตร เพื่อให้เกิดการความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพทำนา ดังนั้นจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรถึงประโยชน์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้งว่า จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะส่งผลให้เป็นการลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ โดยเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของนานาประเทศที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นไปตามที่ที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุม COP 26 การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ เช่น Smart Farmers / Young Smart Farmers / Agricultural Village Volunteer เพื่อขยายผลองค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ศ.ดร.นฤมลกล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องสนับสนุน คือ โครงสร้างพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนการทำนาแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบเปียกสลับแห้ง ทั้งในเรื่องของชลประทาน ตลอดจนการปรับหน้าดินของแปลงนา ปัจจุบันไทยมีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ประการแรก คือ การสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ให้สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมให้เป็นการผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายยกระดับภาคเกษตรไทยให้เป็นเกษตรมูลค่าสูงและส่งเสริมทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของโลก ผลักดันแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยภาครัฐ นำเทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-Tech) มาใช้ เพื่อให้คนในภาคการเกษตรสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย
การเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2025 ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขยายผลให้ประเทศไทยต่อไป.-512.-สำนักข่าวไทย