กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – สทร.ประกาศผลตัดสิน “รถไฟในฝัน” เยาวชนไทยโชว์ไอเดียล้ำ! ปูทางสร้างบุคลากรคุณภาพสู่อุตสาหกรรมรางไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. จัดงานประกาศผลการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชน หัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมมอบรางวัลทุนการศึกษา มูลค่ารวม 420,000 บาท ดันศักยภาพเด็กไทยร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมรางของประเทศ
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่โรงแรมเอส รัชดา ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เปิดเผยว่า การจัดประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชน หัวข้อ “รถไฟในฝัน” ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมนำร่องในโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบราง และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ สทร.
ดร.จุลเทพ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเกินความคาดหมาย เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีนักเรียนนักศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมากถึง 433 ทีม แบ่งเป็นรุ่นอายุ 16-18 ปี 270 ทีม และรุ่น 18-22 ปี จำนวน 163 ทีม โดยคณะกรรมการได้ประกาศรายชื่อ 10 ทีมที่ผ่านรอบแรก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ซึ่งคัดเลือกจากทีมที่ได้คะแนนสูงสุดตามกรอบของเกณฑ์การตัดสิน ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ การนำไปใช้ได้จริง และการสื่อสารแนวคิด อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรม “ส่องราง” สำหรับสมาชิกทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอผลงานรอบตัดสิน ในวันที่ 13 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันประกาศผลและมอบรางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลพิเศษ เป็นทุนการศึกษารวมทั้งสิ้น 420,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณและประกาศนียบัตร
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยแต่ละผลงานของน้อง ๆ ที่ส่งเข้าประกวด ล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ มีความหลากหลาย และสะท้อนถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่ให้ความสนใจในระบบราง ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ขอแสดงความชื่นชมและขอแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย” ผู้อำนวยการ สทร. กล่าว
ดร.จุลเทพ กล่าวอีกว่า การที่มีนักเรียนนักศึกษาสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นของเยาวชนไทยที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรางในอนาคตอันใกล้ โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สทร. คือ การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินในการสั่งซื้อจากต่างประเทศลงได้ 20% จากราคาปัจจุบันขบวนรถไฟต่อคันอยู่ที่ 100-150 ล้านบาท
“ในนามของ สทร. ผมขอขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไอเดียของน้อง ๆ ของทุกๆ ทีมที่ร่วมส่งประกวดจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ความฝัน และหลายไอเดียอาจถูกนำไปพัฒนาต่อยอดให้ปรากฏเป็นรูปธรรมได้ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาระบบรางอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดริเริ่มในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของไทย และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรางของประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการ สทร. กล่าว
ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 16-18 ปี ได้แก่ ทีม Ben2 จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 ส่งผลงาน IN-TRAIN ROBOT เทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูแลรถไฟ สร้างความปลอดภัยให้ระบบรางอย่างยั่งยืน และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Ruby on Rails จากโรงเรียนหอวัง ส่งผลงาน ROOTS ON RAILS ระบบขนส่งทางรางสำหรับสินค้าทางการเกษตร
ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 18-22 ปี ได้แก่ ทีมตกหลุมราง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่งผลงาน Food Truck Food Train ตลาดนัดเคลื่อนที่ โบกี้เพื่อชุมชน และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ ทีม p:Hep จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่งผลงาน PHEP PROTOTYPE1 รถไฟอากาศสะอาด เป็นรถไฟฟ้าสำหรับวิ่งทางไกล โดยที่ไม่ต้องลงทุนพัฒนาระบบราง ขับเคลื่อนโดยใช้ระบบ Plug-in Hybrid Hydrogen Electric Power.-111-สำนักข่าวไทย