กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กฟผ.พร้อมให้ความร่วมมือตรวจสอบความโปร่งใส กรณีงานจ้างขุด-ขน ถ่านหินแม่เมาะ ด้าน “พล.ต.ท.เรวัช” ระบุจะเร่งสอบให้เสร็จ ม.ค.นี้ ด้าน รมว.พลังงาน ระบุระงับ 3 เรื่องพลังงาน เป็นเรื่องเกิดก่อนรัฐบาลชุดนี้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งความคืบหน้ากรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหนังสือสั่งให้ กฟผ. ระงับการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด – ขน ถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท โดย กฟผ.อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง
ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งมี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เป็นประธานกรรมการสอบสวน และได้มีหนังสือเชิญผู้ว่าการ กฟผ. หรือผู้แทนเข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งผู้แทน กฟผ. ได้เข้าพบชี้แจงข้อมูลแล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดย กฟผ.ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ เพื่อความชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใส ในการดำเนินงาน และให้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างราบรื่น เสร็จทันตามกำหนดเวลา
พล.ต.ท.เรวัช ระบุผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนตั้งแต่ 25 ธ.ค.67 หลังจากนั้น เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทันทีทั้งเจ้าหน้าที่ กฟผ. บริษัทที่ร้องเรียน บริษัทที่ได้รับการคัดเลือก ยันจะเร่งสรุปเพื่อเสนอ รมว.พลังงาน ภายในเดือน ม.ค.68
“ผมรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งบริษัทที่ร้องเรียน และผู้ชนะประมูล โดยดูข้อกฎหมายรอบด้านว่าไปตามตรงผิดก็ว่าผิด ถูกกฎว่าถูก ไม่มีใครแทรกแซงการทำงาน” พล.ต.ท.เรวัช ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือ ถึง กฟผ. ระงับการจัดซื้อจัดจ้างการขุดและขนลิกไนต์ด้วยวิธีพิเศษมูลค่า 7,250 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 ที่ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูล แต่บริษัท อิตาเลียน ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม และ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการการ กฟผ. ก็คัดค้าน โดยยื่นหนังสือ ถึง รมว.พลังงาน ลงวันที่ 12 พ.ย. 2567 และในขณะที่ไอทีทียื่นหนังสืออุทธรณ์ขลงวันที่ 15 พ.ย.2567 จึงเป็นที่มาการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้หากไม่เร่งพิจารณาไทยต้องนำเข้าก๊าวแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าทดแทนถ่านหินประเมินกันว่าจะกระทบค่าไฟฟ้าชาวบ้านราว 8 สตางค์ต่อหน่วย
ในเพจเฟซบุ๊กพรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ ชี้แจงสาเหตุของการที่ช่วงนี้หลายโครงการถูกสั่งทบทวน สั่งระงับ ไม่ว่าจะเป็นการระงับการจัดซื้อจัดจ้างการขุดและขนลิกไนต์ด้วยวิธีพิเศษมูลค่า 7,250 ล้านบาท ของ กฟผ. การระงับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การระงับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเฟสสอง 3,600 เมกะวัตต์ อาจสร้างความเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อค่าไฟ ทำให้การดำเนินการของ กกพ.ชะงัก หรือส่งผลกระทบต่อการจัดหาไฟฟ้าสะอาดที่ไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ ว่า ทุกเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นไล่ ๆ กันในช่วงนี้เท่านั้น ไม่ใช่เกิดมานานแล้วเพิ่งมาสั่ง เข้าใจถึงเรื่องความจำเป็นรีบเร่ง แต่ความรีบเร่งไม่ใช่ว่าทำให้สามารถทำอะไรที่อาจไม่ถูกต้องได้ กรณีของปัญหาการประมูลขุดถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ไม่ใช่เพิ่งจะทำ ทำกันมานานแล้ว เมื่อทราบเรื่องก็กำชับไปว่าให้ทำให้ถูกต้อง ผิดพลาดขึ้นมามีการร้องเรียนแล้วจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้า
“ใครชนะใครแพ้ใครได้งาน ไม่ใช่เรื่องของผม แต่กระบวนการและขั้นตอนต้องถูกต้องโปร่งใส ผมเข้าใจดีถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบในการดำเนินการของทุกหน่วยงาน แต่ความเร่งรีบมันต้องทำให้โปร่งใสด้วย สุดท้ายก็มีการร้องเรียนจริงๆ ถ้ากลัวความล่าช้าทำไมไม่ทำให้ถูกต้องโปร่งใสแต่แรกจะได้ไม่มีการร้องเรียน พอทำผิดพลาดมีการร้องเรียนมาอ้างความล่าช้า ผมเป็นรัฐมนตรีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกำกับดูแลให้ กฟผ. ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อมีผู้ร้องเรียนผมไม่ดำเนินการผมก็มีความผิดเอง” รัฐมนตรีพลังงาน ระบุ
ส่วนเรื่องการสรรหากรรมการ กกพ. เมื่อสำนักงานคณะกรรมการ กกพ.ดำเนินการไปก็มีการแจ้งมาว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่ใช้อยู่ก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งเคยกำชับให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ก็ได้รับแจ้งว่าหารือแล้ว พอมีการแจ้งมาถึงความผิดพลาดสอบถามอีกทีบอกว่าไม่ได้สอบถามกฤษฎีกา แล้วจะให้ทำอย่างไร
ขณะที่การประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องเดิมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน เมื่อเข้ามาก็ไม่เคยมีเรื่องนี้มาหารือกันในที่ประชุม กพช. เลย ทั้งตนเองและนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธาน กพช. ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน ต่อมาประมาณกลางปี 2567 ปลัดกระทรวงพลังงาน และฝ่ายเลขาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีตนเองเป็นประธาน ซึ่งเป็นเหมือนคณะอนุกรรมการของ กพช. ก็นำเรื่องมาหารือว่าจะต้องมีการประมูลพลังงานไฟฟ้าสะอาด 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้ผู้ที่เคยเข้าประมูลไฟฟ้าพลังงานสะอาดโครงการแรก 5,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้งานให้เป็นผู้มีสิทธิได้งานส่วนนี้ แต่เห็นว่าควรจะเปิดประมูลใหม่มากกว่า จึงเห็นด้วยและให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช. แต่รับแจ้งว่าเรื่องนี้ กพช. มอบอำนาจให้ กบง. พิจารณาได้เลย
ดังนั้น จึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กบง. ต่อมาทราบว่า 1,500 เมกะวัตต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ 3,600 เมกะวัตต์ ที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือ 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ โดยในส่วน 2,100 เมกะวัตต์คณะกรรมการ กพช. มีมติให้ กกพ. นำไปดำเนินการโดยให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่ได้งานในส่วน 5,000 เมกะวัตต์แรก ซึ่ง กกพ. ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ จึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้า 1,500 เมกะวัตต์ กับ 2,100 เมกะวัตต์ มาจาก 3,600 เมกะวัตต์ เหมือนกัน ก็ควรกำหนดเงื่อนไขเหมือนกัน ในเมื่อ 1,500 เมกะวัตต์กำหนดใหม่ให้เปิดประมูลใหม่ และส่วนของ 2,100 เมกะวัตต์ ยังไม่เสร็จสิ้น ทำไมไม่แก้ไขให้หลักเกณฑ์เหมือนกัน และเหตุใดจึงต้องแบ่งเป็น 2,100 เมกะวัตต์ กับ 1,500 เมกะวัตต์ พยายามสอบถามทุกๆ ฝ่ายแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน โดยเมื่อการประชุม บอร์ด กพช. ในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 มีมติ ให้ทางการไฟฟ้าทั้งสามแห่งชะลอการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกะวัตต์ และให้หารือกฤษฎีกาถึงกรอบอำนาจของ กพช. ในเรื่องนี้
สรุป คือเรื่องนี้เกิดมาก่อนรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แต่รัฐบาลปัจจุบันต้องรับผิดชอบทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ความเป็นมาเลย ก็ต้องชะลอเรื่องและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็เดินหน้ากันต่อก็เท่านั้น. -511- สำนักข่าวไทย