กรุงเทพฯ 26 ธ.ค. – กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งลดความเสี่ยงอุบัติเหตุในโรงงาน – ระงับอัคคีภัย และเพิ่มการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชนโดยรอบ จัดทีมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยโรงงาน ปี 68 เริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับมอบนโยบายจากนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และป้องกันไม่ให้มีความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยปรับปรุงกฎหมาย คู่มือ ให้มีความครอบคลุมและทันสมัยมากขึ้น เช่น ปรับปรุงแก้ไขคู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552 ให้มีเนื้อหาสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานสามารถป้องกัน และลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุภายในโรงงาน เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน
จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 พบว่าเกิดอัคคีภัยทั้งสิ้น 679 ครั้ง (เฉลี่ย 85 ครั้ง/ปี) โดยโรงงานที่เกิดอัคคีภัยสูงที่สุด ได้แก่ โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก รองลงมาคือ โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับไม้ โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ และโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับยางตามลำดับ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ พบว่าอุบัติเหตุจำนวนมากเกิดจากการขาดการดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าภายในโรงงาน และการทำงานที่มีความร้อนในพื้นที่ทำงาน เช่น การเชื่อม ฯลฯ ซึ่งไม่มีระบบการป้องกันไม่ให้ความร้อน เช่น สะเก็ดไฟ ไปสัมผัสกับวัสดุที่ติดไฟได้ที่อยู่ในพื้นที่ จึงอยากขอให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ระมัดระวังอัคคีภัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งนี้
ปี 2568 กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดย กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน ได้เพิ่มการป้องกันสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงด้วย “โครงการให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน” ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อดูแลให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องได้รับความปลอดภัย เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด สำหรับโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ E-mail : firesafety.diw@gmail.com หรือ โทร. 06 5525 5539 และ 0 2430 6314 ต่อ 2310 ซึ่งในอนาคตจะขยายพื้นที่การดำเนินการไปทั่วประเทศ. -517-สำนักข่าวไทย